กรมการค้าต่างประเทศเผยบราซิลออกประกาศแก้ไขข้อกำหนดในการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ของเล่น
กรมการค้าต่างประเทศเผยบราซิลออกประกาศแก้ไขข้อกำหนดในการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ของเล่นและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก แนะผู้ผลิตและผู้นำเข้าเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า บราซิลได้ออกระเบียบ Ordinance No. 217 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เพื่อปรับแก้ไขระเบียบ Ordinance No. 563 ว่าด้วยระเบียบของเล่นและอุปกรณ์การเรียน ภายใต้ระเบียบทางเทคนิคและข้อกำหนดการตรวจสอบและรับรองของเล่น ระเบียบฉบับดังกล่าวจะแบ่งระยะการมีผลบังคับใช้ออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ (1) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 สำหรับผู้ผลิตภายในประเทศและผู้นำเข้า (2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายของเล่น และ (3) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 สำหรับภาคตลาดธุรกิจของเล่น เป็นต้นไป โดยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดในระเบียบหลายประเด็น อาทิ
1. ปรับแก้ไข ปรับลดปริมาณการใช้ ethylene-vinyl acetate (EVA) โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดการใช้สาร Formamide ที่เป็นส่วนประกอบในของเล่น จากเดิม 0.5% เป็น 0.3% และปรับแก้ไขรายการสินค้าที่ไม่เข้าข่ายเป็นของเล่น
2. เพิ่มเติม คำนิยาม "ของเล่น" ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบหรือมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อใช้เล่นสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
3. ขยายระยะเวลา ใบรับรองการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน (Certificate of Conformity : CoC) จากอายุ 3 ปี เป็น 5 ปี และระยะเวลาการประเมินผลบำรุงรักษา (การตรวจสอบและการทดสอบ) จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน หลังจากออก CoC
4. ข้อกำหนดใหม่ การระบุตัวตนของผู้ผลิต (ID) บนบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ชื่อบริษัท หรือชื่อทางการค้าและ/หรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและที่อยู่ ทั้งนี้ รายละเอียดข้างต้นจะต้องระบุให้ชัดเจนหากมีการย่อ
5. คำเตือน เช่น (1) กำหนดข้อความหรือคำเตือนสินค้าลูกแก้วสำหรับเด็กที่มีอายุ 0 - 3 ปี (2) คำเตือนบนบรรจุภัณฑ์สำหรับของเล่นที่เกี่ยวกับกีฬาทางน้ำ และ (3) คำเตือนบนยางกัดและของเล่นที่หมุนไปมาได้ เป็นต้น
จากข้อมูลสถิติพบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่นไปยังบราซิล (HS Code 50) ในช่วงปี 2560-2562 มีมูลค่า 92.8 93.4 และ 85.5 ล้านบาทตามลำดับ โดยล่าสุดในปี 2563 (ม.ค.- มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 42.9 ล้านบาท ลดลง 0.46% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน