“เช็คเด้ง”
เช็ค คืออะไร
ตามประมาลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 หมวด 4 เช็ค มาตร 987 ได้ให้คำจำกัดความของเช็คไว้ว่า
“ อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง อันเรียกว่าผู้รับเงิน “
กฎหมายเกี่ยวข้องกับเช็คมีอยู่ 2 ฉบับ คือ
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 ว่าด้วยเรื่องตั๋วเงิน หมวด 4 เช็ค
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
ทางแพ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 ว่าด้วยเรื่องตั๋วเงิน หมวด 4 จะควบคุมเรื่องการออกเช็คอย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และควบคุมในเรื่องความสมบูรณ์ของเช็ค
ทางอาญา
พระราชบัญญัติความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ควบคุม การออกเช็ค โดยสุจริต
การออกเช็คที่เป็นความผิดทางอาญา
ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
“ มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อแนะนำเมื่อเช็คที่ได้รับเป็นเช็คเด้ง …….
ถ้าเช็คเด้ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น สิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดี คือ
1. เก็บรักษาเช็คดังกล่าว พร้อมใบคืนเช็คซึ่งธนาคารแนบคืนมาให้
2. แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ณ ท้องที่ ที่ธนาคารเจ้าของเช็คนั้น ๆ ตั้งอยู่
โดยจะต้องทำการฟ้องร้องต่อศาลภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่เช็คเด้ง (วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน)
โดยแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์จะดำเนินคดี (คดีอาญา)
3. ฟ้องดำเนินคดี (คดีแพ่ง) โดยจะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค
4. ฟ้องร้องได้ตามมูลหนี้เดิมที่มีการสั่งจ่ายเช็คนั้น ภายในอายุความ ซึ่งบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 กำหนดอายุความ
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
รวบรวมและเรียบเรียง โดย :
ศศินันท์ จงธนพิพัฒน์ - ทนายความ
โทร. 089-8811786