คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2559
เลิกจ้างเพราะเหตุทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่
พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ม. 123 (3) , พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ม. 119
ประมวลกฎหมายอาญา ม.295, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3), พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ม. 33
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ละทิ้งหน้าที่ ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงาน ให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยร่วมจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ว่า จำเลยร่วมเลิกจ้างโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพรบ. แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 123 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พิจารณา และวินิจฉัยว่า การที่จำเลยร่วมเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืน พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์เห็นว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้นำคดียื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์เป็นกรณีขณะเกิดเหตุ โจทก์หยุดพักเครื่องจักร โดยไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงไม่ถือว่า เป็นความผิดกรณีร้ายแรง และเพื่อนร่วมงานซึ่งได้รับอันตรายไม่ถึงขั้นบาดเจ็บร้ายแรง เหตุเกิดเพียงชั่วครู่ หลังเกิดเหตุโจทก์ยังกลับไปทำงานต่อ ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรง การที่จำเลยร่วมเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม เห็นสมควรให้จำเลยร่วมรับโจทก์กลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์โดยการปิดเครื่องจักรแล้วไปก่อเหตุหาเรื่องชกต่อย ทำให้เพื่อนร่วมงานได้รับบาดเจ็บ และผู้ร่วมงานมิได้ตอบโต้ อันเป็นการกระทำความผิดอาญาข้อหาทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ย่อมเป็นการให้เกิดความเสียหายแก่การปกครอง แตกแยกสามัคคี ผิดศีลธรรมอันดี ทำให้จำเลยเสียหายเป็นกรณีร้ายแรง การที่จำเลยร่วมออกระเบียบข้อบังคับฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและดูแลบริหารจัดการพนักงานจำนวนมากให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยร่วมไม่ประสงค์ให้พนักงานทุกระดับกระทำการดังกล่าว และถือเป็นกรณีร้ายแรง การที่โจทก์เก็บความไม่พอใจไว้แล้วละทิ้งนานถึง 3 วัน และเข้าทำร้ายเพื่อนร่วมงาน โดยไม่สนใจต่อกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยร่วม ไม่มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรง การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
**********************************************
ย่อและเรียบเรียง-ทนายจำเลยร่วม (อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาต่อศาลฎีกา) โดย :
ทนายศศินันท์ จงธนพิพัฒน์ ( Ms. SASINUN CHONGTHANAPIPAT) Tel : 089-8811786