ความหมาย โลจิสติกส์ ในด้านการขนส่ง
ดร.นระ คมนามูล Ph.D.(London)
วุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธา
โลจิสติกส์ (Logistics) หรือ ที่บางคนออกเสียงว่า ลอจิสติกส์ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องนัก คำนี้ตามพจนานุกรม แปลว่า การส่งกำลังบำรุง และความหมายในยุคศตวรรษที่ 19 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการขนส่งสิ่งของ หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อลำเลียงสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะในทางทหารและอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของ แต่ถ้าอยู่ในเรื่องของการบริหารองค์กรที่มีสายงานมากและซับซ้อน หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการภารกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของ โลจิสติกส์ ก็เปลี่ยนไปตามวิธีการดำเนินธุรกิจของโลก ในยุคศตวรรษที่ 20 ในทางการทหาร หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนกองทัพ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปโภคต่าง ๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ หมายถึง การวางแผนและควบคุมการเคลื่อนไหลของวัตถุดิบและผลผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้บริโภค โดยมีการจัดองค์กรหรือกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมคุ้มค่า
ปัจจุบัน โลจิสติกส์ หมายถึง ต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศ การผลิตสินค้าหรือการบริการต่างๆ ย่อมต้องมีการติดต่อ ขนส่ง เช่น ขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบไปยังโรงงานผ่านกระ บวนการผลิตจนเป็นสินค้า จากนั้นต้องมีการขนส่งสินค้าสู่ตลาด เพื่อกระจายให้ถึงผู้บริโภค ต้นทุนด้านการขนส่งมิได้หมายถึงเฉพาะค่าใช้จ่ายของยานพาหนะ แต่รวมถึงวิธีการบรรจุ หีบห่อ ขนถ่าย และป้อนเข้าโรงงาน หากทำได้รวดเร็ว ประหยัด มีการสูญเสียน้อย นั่นยอมหมายถึงมีต้นทุนต่ำ ในการกระจายผลผลิตสู่ตลาดและผู้บริโภคก็ต้องมีต้นทุนต่ำด้วย
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ จึงครอบคลุมหลายฝ่าย ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ วิธีการบรรจุ ขนถ่าย กระบวนการส่ง-รับของ ผู้จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งต่าง ๆ ทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ศุลกากร และโรงเก็บสินค้า เป็นต้น ต้นทุนด้านการขนส่งจะต่ำได้ต่อเมื่อการขนถ่ายและนำส่งผลิตภัณฑ์ถึงจุดหมายโดยเร็ว สูญเสียน้อย สินค้าถึงมือผู้รับตามเวลาโดยเร็ว ขั้นตอนกระบวนการศุลกากรทั้งนำเข้า-ส่งออก สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าเช่าโรงเก็บสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์นานวัน ลดดอกเบี้ยของต้นทุนลงได้ด้วย
การติดต่อสื่อสาร เพื่อการสั่งซื้อทั้งวัตถุดิบและสินค้า ต้องสะดวกรวดเร็วและชัดเจน ระบบการถ่ายทอดส่งข้อมูลสารสนเทศ หรือ ไอที ต้องมีเครือข่าย ที่เชื่อมต่อทั้งในประเทศและกับต่างประเทศอย่างทั่วถึง และเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ตั้งแต่แหล่งวัสดุ โรงงานผลิต กรมศุลกากรจน ถึงผู้ซื้อ และมีมาตรฐานที่เป็นสากล เพื่อมิให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่สูญเสีย สามารถประหยัดต้นทุนสินค้าได้ ประเทศต่าง ๆ ในโลกกำลังรณรงค์ด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนผลผลิตของประเทศโดยเฉพาะด้านการขนส่ง
กลุ่มยุโรป ค่าโลจิสติกส์คิดเป็นร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) สหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี ญี่ปุ่น เนื่องจากสภาพประเทศเป็นเกาะ ค่าโลจิสติกส์จึงสูงขึ้นถึงร้อยละ 11 ของจีดีพี ขณะที่ค่าโลจิสติกส์ของจีน อยู่ที่ร้อยละ 18 ของจีดีพี ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์เป็นค่าขนส่งร้อยละ 50 (สูงกว่าประเทศอื่นสองเท่า)
สำหรับ ประเทศไทย ยังไม่มีการศึกษาค่านี้ แต่คาดว่าสูงมาก เพราะความไม่สมบูรณ์และทันสมัยของระบบขนส่งบางชนิดที่ปกติควรประหยัดค่าใช้จ่ายมาก เช่น ทางรถไฟ และทางน้ำ โดยเฉพาะขาดการเชื่อมโยงการขนส่งต่างรูปแบบเข้าด้วยกันให้ต่อเนื่อง เช่น คอขวดของระบบทางหลวงเข้าสู่ท่าเรือหรือลานตู้คอนเทนเนอร์ของรถไฟ เป็นต้น รัฐบาลไทยจึงเร่งพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทั้งระบบเอกเทศ (single mode) การขนส่งที่สนับสนุนการขนส่งระบบอื่น (feeder mode) และการปรับปรุงระบบศุลกากรให้รวดเร็วแบบ One Day Clearance หรือ ”หนึ่งวันทันใจ” เป็นต้น เพื่อลดค่าโลจิสติกส์ของประเทศและเพิ่มศักยภาพของประเทศที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ
อัตราค่าขนส่งสินค้าภายในประเทศของไทย พอจะประมาณได้ดังนี้
- ทางน้ำ 0.24 บาท/ตัน/กิโลเมตร (ทางแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีระยะทางน้ำ 379 กม.)
- ทางรถไฟ 0.57 บาท/ตัน/กิโลเมตร (ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 4,044 กม. ทางเดี่ยว
และกำลังขยายเป็นทางคู่ประมาณ 234 กม.รอบ ๆ กทม.)
- ทางถนน 1.20 บาท/ตัน/กิโลเมตร (ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 160,000 กม.หรือเฉลี่ย
0.30 กม./ตร.กม. เป็นทางหลวงสายหลักประมาณ 60,000 กม.)
- ทางเครื่องบิน 8.30 บาท/ตัน/กิโลเมตร (มีท่าอากาศยานทั้งสิ้น 31 แห่งเป็นท่าอากาศยาน
นานาชาติ 6 แห่ง มีจำนวนเที่ยวบิน 800-900 เที่ยว/วัน ร้อยละ 36 เป็น
เที่ยวบินภายในประเทศ)
หมายเหตุ: การขนส่งทางรถไฟ ปัจจุบันการรถไฟไทยยังไม่มีโกดังแบบโลจิสติกส์รองรับทั้งต้นทางและปลายทางสำหรับสินค้าทั่ว ๆ ไป การขนส่งทางรถไฟและโกดังสินค้าควรจะเป็นโครงการของรัฐหรือให้มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละหน่วยราชการนั้น ๆ
ศูนย์รับและส่งกระจายสินค้า รอบ ๆ กรุงเทพมหานครมีโครงการของรัฐที่จะสร้าง 4 มุมเมืองมานานแล้ว และในภูมิภาคอีก 3 แห่งคือ ที่สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และพิษณุโลก แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมและครบวงจร จากการขยายตัวของธุรกิจมาจนปัจจุบันน่าจะสร้างศูนย์รับส่งสินค้าชานเมืองไม่ต่ำกว่า 6 แห่งรอบ ๆ กทม. จึงจะพอเพียง และน่าจะเป็นองค์กรเอกชนสร้างขึ้นมาเอง แต่รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกหลาย ๆ ด้านเพื่อจูงใจให้เกิดโครงการนี้ และจะต้องสร้างศูนย์นี้ในแต่ละจังหวัดที่มีการขนส่งมากพอ อันเป็นการที่จะได้ประโยชน์ในการลดปริมาณจราจรและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงต่าง ๆ อนึ่งภายในบริเวณศูนย์นี้ก็สามารถพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมาย
ส่วน อัตราค่าถ่ายโอนเอกสาร-ข้อมูลทางธุรกิจ มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่โดยทางไปรษณีย์ ทางโทรสาร ถึงทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในส่วนของระบบการสื่อสารโทรคมนาคม แบ่งออกเป็น 3 บริการ ได้แก่
1. บริการโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed line service) มีผู้ให้บริการ 3 ราย โดย ณ ปี 2546 มีผู้ใช้บริการทั้งประเทศ 6.5 ล้านเลขหมาย ในภูมิภาคและในนครหลวงในสัดส่วน 3.0 : 3.5 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเขตนครหลวงมีโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายนี้สูงเป็น 7 เท่าของเขตภูมิภาค
2. บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular mobile service) มีผู้ให้บริการ 8 ราย และเป็นเจ้าของเครือข่าย 5 ราย ในปี 2546 มีผู้ใช้บริการทั้งประเทศ 22.4 ล้านเลขหมาย หรือ 35.1 เลขหมายต่อประชากร 100 คน ซึ่งสูงเป็น 3.5 เท่าของบริการโทรศัพท์ประจำที่
3. บริการอินเตอร์เน็ต เป็นบริการที่อาศัยการเข้าถึงเครือข่ายผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน ในปี 2546 ในประเทศไทย มีผู้ให้บริการ 18 ราย เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ 5 ราย โดยมีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 6 ล้านราย อุปสงค์ต่อแบนด์วิดธ์ทั้งหมดของประเทศขึ้นถึง 79 Mbps
จาก รายงานภาพรวมโครงสร้างพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ แสดงแนวโน้มการขยายตัวของ สาขาขนส่ง ในกรณีฐาน มีอัตราเพิ่มของการขนส่งสินค้า ทางชายฝั่งทะเลร้อยละ 19.2 ต่อปี ทางอากาศร้อยละ 18.6 ทางถนนร้อยละ 6.5 ทางแม่น้ำร้อยละ 5.0 และทางรถไฟร้อยละ 2.9 ในขณะเดียวกันอัตราเพิ่มของการขนส่งคนทางอากาศร้อยละ 12.8 ต่อปี ทางถนนร้อยละ 5.3 และทางรถไฟร้อยละ 1.5 ในปี 2562 คาดคะเนว่าปริมาณสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศรวม 1,467 ล้านตัน (523.27 ล้านตันในปี 2545) โดยขนส่งทางถนนในสัดส่วนร้อยละ 83.82 ทางชายฝั่งทะเลร้อยละ 12.43 และทางรถไฟร้อยละ 1.01 เป็นต้น ในขณะที่การขนส่งคนระหว่างจังหวัดในปี 2562 จะมีจำนวน 2,047 ล้านคน เป็นทางถนนร้อยละ 95.0 ทางรถไฟร้อยละ 2.72 และทางอากาศร้อยละ 2.29 ทั้งนี้ได้จากการนำอัตราการเพิ่มของการขนส่งไปคำนวณหาเป็นตัวเลขปริมาณสินค้า จำนวนคนเดินทาง และส่วนแบ่งของการขนส่งในแต่ละประเภทด้วย
ทุกวันนี้ โลจิสติกส์ มักจะเชื่อมโยงกับการจัดการโซ่อุปทาน และระบบการประมวลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพิมพ์ สสท. ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้จัดพิมพ์หนังสือตำรา Supply Chain & Logistics: ทฤษฎีและตัวอย่างจริง ของ Prof. Tsutomu Araki แห่งมหาวิทยาลัยชิงะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย รศ.กฤษดา วิศวธีรานนท์ และ ดร.กุลพงศ์ ยูนิพันธ์