สรุปการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มการค้าบริการ (โทรคมนาคม โลจิสติกส์ และท่องเที่ยว)
ต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป
วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2553 เวลา 9.30 น.
ณ ห้องประชุม 30314 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
ประเด็นการประชุม
1. การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของท่านหรือไม่ อย่างไร
2. ปัจจัย หรืออุปสรรคสำคัญในการเปิดตลาดกับสหภาพยุโรปทั้ง ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ
3. ความพร้อมในการเปิดตลาดกับสหภาพยุโรป/ เงื่อนไขการเปิดตลาดที่ต้องการเสนอ
4. มาตรการรองรับ/ มาตรการเยียวยาที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ
5. กลไกความร่วมมือที่ต้องการให้สหภาพยุโรปช่วยเหลือ
6. ท่านต้องการให้ไทยเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปหรือไม่
คุณวิชัยตัวแทนสมาคมชิปปิ้งฯ สรุปผลการประชุมที่เกี่ยวข้องดังนี้
- ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อหลายอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว ในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีส่วนใหญ่แล้ว ประเทศที่ใหญ่จะได้เปรียบ ประเทศเล็กจะเสียเปรียบ เพราะว่าจะไม่มีอำนาจในการต่อรอง
- การเปิดเสรีการลงทุน และบริการ มีผลสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจของคนไทย เป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองกิจการ รัฐบาลแก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติได้สิทธิเท่าเทียมกับคนไทย ทำให้ธุรกิจของคนไทยต้องเลิกกิจการไปในที่สุด เช่น ตลาดธุรกิจค้าปลีก, ร้านโชว์ห่วย ที่ไม่อาจแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้
- ธุรกิจต่างชาติมีเงินทุนสูงกว่าธุรกิจขนาดเล็กของคนไทย จึงสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาต่ำ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของคนไทยไม่สามารถแข่งขันราคาได้
- การจัดทำเขตการค้าเสรีมีผลทำให้ ธุรกิจต่างชาติมีตลาดการค้าที่กว้างขึ้น ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกำหนดราคาในตลาด
- ธุรกิจต่างชาติได้รับการอำนวยความสะดวกแทบจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย ได้รับการลดหย่อนภาษี การขนส่งของธุรกิจต่างชาติสามารถทำได้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ซึ่งตรงข้ามกับของคนไทย ที่จะต้องเดินพิธีการยุ่งยากหลายขั้นตอน, เอกสารใบรับรองต่างๆ มากมาย มีการตรวจสอบหลายครั้ง กว่าจะผ่านการตรวจสอบ, ค่าใช้จ่ายในการเดินพิธีการสูง, เส้นทางการขนส่งสินค้าติดขัด
- หากมีการทำเขตการค้าเสรี ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลควรปกป้องธุรกิจขนาดเล็กของคนไทย เพื่อที่จะให้สามารถต่อสู้แข่งขันได้ จำเป็นที่จะต้องมีการลด/ ยกเลิกภาษี, กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบตรงกัน
- การออกเอกสารใบอนุญาตควรเป็นมาตรฐานสากล มิใช่ผ่านมาตรฐานสากล แต่กลับไม่ผ่านในไทย
- การจัดทำเขตการค้าเสรีมีนัยทางด้านการเมืองระหว่างประเทศอยู่ด้วย คือเป็นการเข้าไปใกล้ชิดกับอีกประเทศหนึ่ง แต่ในการจัดทำเขตการค้าเสรีนี้ ยังขาดอีกหลายประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม และประเทศนั้นๆ ก็เป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย แต่กลับมิได้เข้าร่วม
- รัฐบาลควรสนับสนุนให้ธุรกิจของคนไทยที่ได้รับผลกระทบได้มีการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถก่อนเจรจาการค้าเสรี การลด/ เลิกอุปสรรคทางการค้า กำหนดมาตรฐานเดียวกันทั้ง ส่งเสริมยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของธุรกิจของคนไทย เสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขัน ได้แก่
- สร้างขีดความสามารถ และประสิทธิภาพต่างๆ โดยครอบคลุมการพัฒนาคน ส่งเสริมให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจต้องการเรียนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ เพื่อมิให้เข้าใจ และสื่อสารได้อย่างถูกต้อง มิให้เสียเปรียบ ควรจัดให้มีการสอนภาษาอื่นๆ ด้วย นอกจากภาษาอังกฤษ
- จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสอนธุรกิจโลจิสติกส์ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่นักเรียนที่จบมาแล้วมีคุณภาพ
- การพัฒนาเทคโนโลยี โดยรัฐบาลสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ และแจกจ่ายให้แก่ธุรกิจของคนไทยที่ขาดเงินทุน และมีการจัดอบรมสอนวิธีการใช้ให้มีประสิทธิภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดต้นทุน
- ให้งบประมาณแก่สมาคมที่มีมาตรฐาน เพื่อสมาคมนั้นๆ จะได้ดูแล และนำไปพัฒนาส่งเสริมสมาชิกให้มีคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากในการ ตรวจสอบประเมินสถานะคุณภาพสมาชิก การดำเนินการต่างๆ ที่สมาคมทำเพื่อสมาชิกนั้น จะต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากรัฐบาลมีงบช่วยเหลือ สมาคมก็จะสามารถดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริหารจัดการให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
- รัฐบาลควรเคร่งครัด เข้มงวดเรื่องเครื่องหมายการค้าไทย ขอให้เพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงเครื่องหมายซึ่งจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของไทย เช่นบริการสปาของไทย, การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ความเป็นไทย เช่น ชื่อของ “ข้าวหอมมะลิ” และสินค้าอื่นๆ ของไทยอาจถูกแย่งชิงไปใช้ประโยชน์ เพื่อการค้าโดยบริษัทต่างชาติ ได้รัฐบาลจะต้องกำหนดข้อเรียกร้องให้ไทยเรื่องการจดสิทธิบัตร โดยขอให้มีข้อกำหนดดังกล่าวในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการจดสิทธิบัตรโดยมิชอบเป็นต้น
- รัฐบาลควรจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจต่างๆ เพื่อคุ้มครองแรงงานไทย การว่าจ้างแรงงานไทย การจำกัดอำนาจขอบเขตของต่างชาติในธุรกิจของคนไทย เช่น บริษัทของคนไทยผู้ที่มีอำนาจไล่พนักงานออกต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นคนไทย ผู้บริหารต่างชาติไม่มีสิทธิไล่พนักงานที่เป็นคนไทยออกจากงาน, บริษัทของคนไทยจะต้องมีพนักงานที่เป็นคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
- ควรมีการแก้ไขกฎหมายการรับประกันความเสียหายแก่ธุรกิจโลจิสติกส์ ให้ความคุ้มครองครอบคลุม เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายนี้ยังล้าหลังอยู่มาก ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ที่ไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้
สรุปโดย นายวิฃัย จงธนพิพัฒน์