ต้นพฤษภาคม 2544 MTO บทความ ขนส่งเนื่องหลายรูปแบบ ตอนที่ 4
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หวังว่าทุกท่านคงจะมีความสุขในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายท่านก็คงได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ มีการเติมกำลังแบตเตอรี่ในร่างกายอย่างเต็มพิกัด เพื่อเริ่มทำงานกันหลังปีใหม่ไทยอย่างสดใส หลายคนก็คงจะเริ่มคิดวางแผนใหม่ ผู้ส่งออกเริ่มเดินเครื่อง หลังจากไปเที่ยวต่างประเทศ และหาโอกาสสำรวจตลาดใหม่ หลังจากได้มีโอกาสพบปะญาติพี่น้องที่ต่างมารวมกัน และได้รับข่างสาร การเคลื่อนไหวของญาติพี่น้อง บางคนก็เปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้อนาคตหลังจากพบปะกัน ชวนกันไปทำงานที่ใหม่ ชวนกันสร้างงาน สร้างเงิน แต่ก็อย่างไปอิจฉาคนที่ได้ดี แล้วมาเครียด พยายามมองในสิ่งที่ดีจากการพัฒนาของญาติพี่น้อง และคิดถึงวันวานที่มีความสนุกกันตอนเด็กๆ แล้วมาช่วยกันตามแบบประเพณีคนไทยที่มีความรักพี่รักน้องตามที่ผู้ใหญ่พ่อแม่สอนมา
ผมสังเกตว่า หลายครอบครัวที่ไม่มีท่านผู้ใหญ่ หรือเสาหลักแล้วก็พยายามหาโอกาสนี้มาเจอกันให้ได้ มิฉะนั้นลูกหลานจะขาดการติดต่อกัน แล้วขอให้ตระหนักว่า การค้าขายระหว่างประเทศ หรือในประเทศ การมีสายสัมพันธ์ หรือคนจีนเรียกว่า กวนซี เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นกุญแจไขแก้ปัญหาได้หลายครั้ง เพราะฉะนั้นควรที่จะรักษาสายสัมพันธ์ให้เหนียวแน่น ยิ่งโลกในอนาคตมีแต่การติดต่อผ่านอินเตอร์เนต ไม่คอยมีการพบปะพูดคุยกัน ความสนิทสนมกันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนยุคใหม่
ผมก็ขอเข้าเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตอนที่ 4 การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบคืออะไร
การค้าขายระหว่างประเทศในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด เป็นตัวทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดิมใช้การสื่อสารโดยทางโทรเลข ผมเคยนั่งเคาะเครื่องโทรเลข จะต้องลองพิมพ์ใส่กระดาษเทปปุ แล้วต้องมาใช้คำย่อ เพราะทางองค์การสื่อสารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้นคิดอัตราค่าส่งเป็นตัวอักษร ยกตัวอย่างเช่น คำว่า for your information ก็จะย่อเป็น FYI เป็นต้น
นอกจากนั้นโครงสร้างการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่ตัดเพิ่มหลายเส้นทาง มีการขุดคลองข้ามทวีป เช่น คลองปานามา และคลองสุเอซ เป็นต้น ทำการขนส่ง ลดทั้งเวลา และระยะทางในการเดินทางอย่างมหาศาล ทั้งความชำนาญในด้านการบริการแบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ มีการศึกษาอย่างจริงจัง มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานของสหประชาชาติเป็นพี่เลี้ยงในการจดประชุม และผลักดันอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน ทั้งได้รับการร่วมมือจากองค์กรทั้งภาครัฐของแต่ประเทศ และภาคเอกชนอย่างสมาคมต่างๆ ของ FREIGHT FORWARDER ที่ร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีการต่อเชื่อมโยงกับการค้าขายระหว่างประเทศให้เกิดการสอดคล้อง และเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศเป็นธรรมดา ไม่ให้มองเป็นเรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
ข้อมูลจากเวปไซด์บ้านจอมยุทธได้เล่าถึงเรื่อง มาร์โค โปโลว่า ในปี ค.ศ. 1271 ชายหนุ่มคนหนึ่งออกจากเวนิส พร้อมกับบิดาและลุง เพื่อเดินทางค้าขาย เขาคือ มาร์โค โปโล คณะของเขาเดินทางผ่านเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน และภาคเหนือของทิเบต ผ่านประเทศที่ชาวยุโรปไม่รู้จัก ในที่สุดก็ถึงปักกิ่ง สู่ราชสำนักกุบไลข่าน และได้ถวายสาส์นจากองค์สันตะปาปา แด่จักรพรรดิมาร์โค โปโล ได้พักอยู่ในฐานะแขกเมือง ในประเทศจีน เขาเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว และได้ไปเยือนประเทศต่างๆ ไกลจนถึงพม่า แล้วก็เดินทางกลับบ้านเกิดโดยเรือแล่นอ้อมปลายใต้สุดของอินเดียไป แล้วเดินทางทางบกผ่านเปอร์เซีย เขาได้จากประเทศของเขาไปนานถึง 24 ปี หลังจากนั้นมา 3 ปี มาร์โค โปโลได้ถูกจับเป็นเชลยในการรบทางทะเล ระหว่างเวนิสกับเจนัว เขาได้เล่าเรื่องราว ของเขาให้เพื่อนนักโทษฟัง ซึ่งได้บันทึกไว้เป็นหนังสือชื่อ การเดินทางของ มาร์โค โปโล
เขาเป็นนักสำรวจเดินทางจากยุโรปไปทวีปเอเชีย คนแรกของโลกที่มีชื่อเสียงมาก ทำให้เกิดแรงดลใจให้นักสำรวจคนต่อๆ มาเกิดแรงจูงใจ เขาอาจจะเรียกว่า เป็นคนที่เบิกทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นคนแรกของโลกก็ได้ เพราะเขาเริ่มเดินทางโดยทางบกจากยุโรปไปเอเชียทางบก แล้วมาย้ายจากพม่าไปอินเดียโดยทางเรือ
ผมอ่านเจอข้อมูลบางตอนจากหนังสือ MULTIMODAL TRANSPORT ของ SINGAPORE LOGISTICS ASSOCIATION ว่า ลักษณะที่โดดเด่นของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ทันสมัยคือ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เป็นจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในเอกสารสัญญาเพียงฉบับเดียว สืบเนื่องมาจากการพัฒนาการขนส่งสินค้าแบบระบบตู้คอนเทนเนอร์เมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์ที่สร้างความสะดวกอย่างมากในการขนส่ง การย้าย การบรรจุสินค้าแบบระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปโดยอาศัยตู้คอนเทนเนอร์อย่างมีประสิทธิภาพมาก ทั้งยังเป็นต้นเหตุให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างมาก ในการคมนาคมให้ก่อเกิดความสะดวกอย่างมาก หลายโครงสร้าง หรือโครงการคมนาคมใหม่ๆ ของหลายประเทศในโลกเรานี้ ต้องสร้างระบบให้สอดคล้องการขนส่งสินค้าแบบระบบตู้คอนเทนเนอร์ และเรียนรู้การพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบด้วย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต และลดต้นทุนโลจิสติกส์
ตามการประชุมขององค์การสหประชาชาติเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเมื่อปี พ.ศ. 1980 ได้กล่าวนิยามของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือการขนส่งสินค้าจากสถานที่หนึ่งในประเทศหนึ่งไปถึงสถานที่รับสินค้าอีกประเทศหนึ่ง โดยผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับจัดการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปทั้งระบบแต่ผู้เดียว เราอาจเรียกชื่อย่อของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ว่า MTO ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องรับผิดชอบการทำเอกสาร ประสานงานกับผู้ขนส่ง หรือตัวเองอาจเป็นผู้ขนส่งสินค้าเองก็ได้ ทั้งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าตามสัญญาที่ว่าไว้ อาจจะกล่าวโดยย่อว่า ลักษณะของสัญญาขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบคือ
(1) การขนส่งสินค้าที่ต้องใช้พาหนะอย่างน้อยสองชนิดในการขนส่ง
(2) สัญญาการขนส่งสินค้าจะมีแค่หนึ่งฉบับ ซึ่งจะชี้ระบุว่า สามารถโอนสิทธิ์ในการซื้อจากผู้ส่งออกไปให้ผู้นำเข้าได้ หรือจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อได้
(3) ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องเป็นคนรับผิดชอบตลอดการขนส่งแต่ผู้เดียวกับผู้ใช้บริการ แม้ว่าผู้ประกอบการขนส่งอาจจะว่าจ้างให้ผู้ขนส่งอื่นๆ ได้ในบางขั้นตอนการขนส่ง หรืออาจจะเรียกว่า ส่งงานการขนส่งต่อช่วงให้คนอื่นได้ ซึ่งตัวผู้ประกอบการขนส่งเนื่องอาจจะไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าที่แท้จริงก็ได้ บ่อยครั้งคำว่า COMBINED TRANSPORT กับ คำว่า MULTIMODAL TRANSPORT จะถูกเรียกสับกัน
วันนี้ขอจบเท่านี้ก่อน เอาอ่านต่อตอนที่ 5 ในฉบับหน้า ขอให้ท่านผู้ท่านได้มีความสุขกับการพักผ่อนในช่วงวันหยุดหลายวันในเดือนนี้
หยก แสงตะวัน