เอกชนจีนคาดหวังอะไรจากอาเซียน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php
“เอกชนจีนคาดหวังอะไรจากอาเซียน” ที่จริงแล้ว ผู้ที่จะอธิบายหรือตอบประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคงไม่ใช่นักวิชาการไทยอย่างดิฉันหรอกค่ะ เพราะผู้ที่จะ“รู้ใจเอกชนจีน”มากที่สุด ย่อมจะต้องเป็นคนจีนด้วยกันเอง และควรจะต้องเป็นคนจีนที่รู้เรื่องอาเซียนในระดับเซียน ดังนั้น บทความนี้จะตอบโจทย์ข้างต้น โดยอ้างอิงความเห็นและบทสัมภาษณ์ของคุณ Xu Ningning ผู้เชี่ยวชาญจีนที่มีความรู้เรื่องอาเซียนในระดับแถวหน้า (ของจีน) และยังมีตำแหน่งเป็น Executive Secretary-General ของสภาธุรกิจจีน-อาเซียนในกรุงปักกิ่งด้วยค่ะ
“เซียนอาเซียนชาวจีน” ท่านนี้ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนอยู่เนืองๆ เพื่อกระตุ้นให้เอกชนจีนได้ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดอาเซียนที่มีผู้บริโภคกว่า 580 ล้านคน และกระทุ้งให้หันมาใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี China-ASEAN FTA :CAFTA ให้มากขึ้น (จีนจะเรียกความตกลงนี้โดยใช้คำว่า China ขึ้นก่อนคำว่า ASEAN เสมอ) จากการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะของคุณ Xu ต่อเอกชนจีนผ่านสื่อต่างๆ พอจะสรุปได้ดังนี้ค่ะ
ประการแรก ความตกลงการค้าเสรี CAFTA มีผลอย่างเต็มที่เมื่อต้นปี 2010 ครอบคลุมสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการค้าขายระหว่างจีน-อาเซียนกว่าร้อยละ 92 จึงเป็น “โอกาสทองของเอกชนจีนที่จะบุกตลาดอาเซียน” โดยใช้ความตกลง FTA นี้เป็นใบเบิกทาง
ประการที่สอง ภาษีนำเข้าที่ลดลงภายใต้ความตกลง CAFTA ย่อมหมายถึงต้นทุนที่จะลดลง และน่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเอกชนจีนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (อันนี้คุณ Xu พูดตามตำราและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเปะเลยค่ะ)
ประการที่สาม เอกชนจีนควรมุ่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี FTA ที่อาเซียนลงนามกับประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น โดยการออกไปลงทุนผลิตสินค้าในอาเซียน เพื่อใช้เป็นฐานผลิตและใช้ประโยชน์จากสารพัด FTA ของอาเซียนในการส่งออกไปเจาะตลาดคู่สัญญา FTA ของอาเซียนอย่างไร้อุปสรรคภาษีนำเข้าและข้อกีดกันการค้าอื่นๆ (หรืออย่างน้อยมีอุปสรรคน้อยกว่าการส่งออกโดยตรงจากแผ่นดินจีน) จึงเป็นการชี้โพรงให้เอกชนจีนหันมาใช้กลยุทธ์ขยายสินค้าจีนสู่ตลาดโลกโดยผ่านอาเซียนนั่นเองค่ะ
ประการที่สี่ ความตกลง CAFTA เป็นปัจจัยเอื้อสำหรับผู้ประกอบการจีนในการออกไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น จากการเปิดกว้างด้านการลงทุนภายใต้กรอบจีน-อาเซียน จะทำให้เอกชนจีนสามารถรุกคืบออกไปลงทุน FDI ในอาเซียนได้สะดวกขึ้น และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “เดินออกไป”หรือ "Zou Chu Qu" ของรัฐบาลจีนด้วย
ประการที่ห้า ในสาขาบริการที่เอกชนจีนมีความสามารถโดดเด่น เช่น กิจการรับเหมาก่อสร้าง ก็น่าจะเข้าไปเจาะธุรกิจบริการดังกล่าวในตลาดอาเซียนได้ง่ายขึ้น ดิฉันคิดว่า ข้อเสนอแนะนี้ของคุณ Xu ช่างสอดรับกับมาตรการของรัฐบาลจีนในการให้เงินช่วยเหลือหลายประเทศในอาเซียน เช่น โครงการก่อสร้างถนน สะพานและอื่นๆ เพราะเงินช่วยเหลือจะจ่ายโดยรัฐบาลจีน แต่คนมาช่วยใช้เงินที่ว่าก็คือ รัฐวิสาหกิจ/บริษัทก่อสร้างจีนที่ตามออกไปลงทุนในประเทศที่รับการช่วยเหลือเหล่านั้นนั่นเอง
“ผู้เชี่ยวชาญอาเซียนของจีน” ท่านนี้ยังวิเคราะห์ไล่เรียงรายประเทศในอาเซียนที่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับเอกชนจีน ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนในแง่จำนวนประชากร และขนาด GDP รวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล มาเลเซีย เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียน แล้วยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมากขึ้น ส่วนสิงคโปร์ ก็เป็นประเทศจากอาเซียนที่เข้าไปลงทุนในจีนมากที่สุด จึงควรใช้เป็นสปริงบอร์ดของเอกชนจีนในการขยายการค้าการลงทุนกับสิงคโปร์ และสิงคโปร์ยังเป็น Hub ด้านการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับโลก คุณ Xu จึงแนะว่าเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ของเอกชนจีนในการออกไปลงทุนในสิงคโปร์เพื่อเชื่อมสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ ในประเทศอาเซียนใหม่ เช่น ลาวและกัมพูชา คุณ Xu ยังชี้แนะให้บริษัทจีนเข้าไปใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป เนื่องจากสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ที่ประเทศอาเซียนเหล่านี้ได้รับ เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า
รวมไปถึงกิจการด้านเกษตรและเกษตรแปรรูป ในพม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งประเทศอาเซียนในอินโดจีนเหล่านี้ยังมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจีน และหลายประเทศก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่จีนกำลังต้องการ (หิวโหย) บริษัทจีนจึงควรออกไปลงทุนในกิจการเหล่านี้ เช่น เหมืองแร่ แหล่งพลังงาน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คุณ Xu ได้เตือนเอกชนจีนว่า ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการค้าขายและออกไปลงทุนในอาเซียน พร้อมชี้แนวทางรุกตลาดอาเซียน เช่น เอกชนจีนควรศึกษาและวิเคราะห์ feasibility analysis อย่างรอบคอบก่อน ที่สำคัญ ควรมีแผนระยะยาวในการรุกเข้าตลาดอาเซียน (ไม่ใช่ตีหัวเข้าบ้าน) และเน้นคุณภาพของสินค้า/บริการ โดยเฉพาะการแก้ภาพลักษณ์ด้านลบของสินค้าจีน ตลอดจนจำเป็นต้องศึกษาทำความคุ้นเคยกับกระบวนการและขั้นตอนด้านศุลกากร และเงื่อนไขต่างๆ ของความตกลง CAFTA รวมทั้งศึกษาสารพัด FTA ที่อาเซียนลงนามกับประเทศต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและหาประโยชน์ได้จริง พร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลในการทำธุรกิจกับแต่ละประเทศในอาเซียน
โดยสรุป คุณ Xu Ningning แนะนำว่า เอกชนและผู้ประกอบการจีนไม่ควรพลาดในการออกไปแสวง (อภิมหา) โอกาสจากตลาดอาเซียน นั่นเองค่ะ
ก่อนจบก็ขอฝาก “รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ หญิงคนที่ 16 ของโลก” ให้มีนโยบายต่อจีนอย่างพอเหมาะพอสมและรู้เท่าทัน คงไม่เห่อกระแสจีนจนกู่ไม่กลับนะคะ