รถไฟจีน-เวียดนาม : ใช้จริงวิ่งข้ามประเทศ
โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php
กระแสรถไฟความเร็วสูงของจีนเชื่อมโยงลงมาภูมิภาคอาเซียนเป็นอีกเรื่องที่พูดถึงกันมากในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกสั่งรื้อให้ศึกษาใหม่เพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศลาวจะไม่ถูกเอาเปรียบมากเกินไป รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อาจจะทำให้ใครหลายคนในอีสานต้องฝันค้างเพราะจีนดึงเรื่องไม่ยอมส่ง “ร่าง MOU ที่ไทยเสนอไป” กลับมาซะที จะด้วยเหตุผลอะไร เอาไว้มีเวลาจะแวะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ในขณะนี้ จึงมีเพียงเส้นทางรถไฟสายเดียวที่มีการใช้งานจริงในการวิ่งข้ามประเทศ นั่นคือ รถไฟของจีนจากกวางสีเชื่อมกับเวียดนามตามเส้นทางหนานหนิง-ฮานอย ในวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักรถไฟสายนี้กันนะคะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดิฉันได้รับจากการเดินทางไปสำรวจเส้นทางฯ พร้อมเข้าพบสัมภาษณ์ข้าราชการกระทรวงรถไฟของจีนที่กวางสี เมื่อปีกลาย
แนวเส้นทางของรถไฟสายนี้เริ่มจากนครหนานหนิง เมืองเอกของกวางสีตรงไปยังกรุงฮานอยของเวียดนาม โดยเริ่มเปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Train) เป็นประจำตั้งแต่ต้นปี 2009 รวมระยะทางทั้งในส่วนที่อยู่ในจีนและในเวียดนามทั้งสิ้นประมาณ 396 กิโลเมตร ในขณะนี้ มีการเดินรถขนส่งผู้โดยสารทุกวัน เริ่มจากนครหนานหนิงไปยังชายแดนผิงเสียงของจีน เพื่อทำเรื่องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แล้วจึงวิ่งข้ามพรมแดนต่อไปยังชายแดนด่งดาง (Dong Dang)ในเมืองหลั่งเซิน (Lang Son) เพื่อทำเรื่องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศเวียดนาม และต่อไปจนถึงกรุงฮานอย
อย่างไรก็ดี รถไฟสายนี้ไม่ใช่ High Speed Train นะคะ เป็นเพียงรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ รางรถไฟใน 2 ประเทศนี้มีขนาดไม่เท่ากัน รางรถไฟในจีนจะกว้างกว่ารางในเวียดนาม ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า แล้วจะวิ่งเชื่อมโยงข้ามประเทศกันได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ยากเกินแก้ค่ะ เพราะได้มีการเพิ่ม“รถไฟรางที่ 3” ขึ้นมาในช่วงประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับรถไฟที่วิ่งตรงมาจากจีน ดังนั้น เราจะสามารถพบเห็น “เส้นทางรถไฟ 3 ราง” ในช่วงที่อยู่ในเวียดนาม ดังแสดงในรูป
สถานีปลายทางในประเทศเวียดนามของรถไฟวิ่งข้ามประเทศสายนี้ จะแยกชัดเจนสำหรับผู้โดยสารจะไปหยุดที่สถานี Gia Lam ส่วนการขนส่งสินค้า จะไปหยุดที่สถานี An Yuan ใกล้กรุงฮานอยของเวียดนาม
ปัจจุบันรถไฟใช้จริงวิ่งข้ามประเทศสายนี้จะเป็นรถไฟของจีนทั้งหมด แต่การจะเข้าไปใช้รางรถไฟในส่วนของเวียดนามที่จะต้องเสริมรางที่ 3 เพื่อรองรับรถไฟจีนนั้นไม่ฟรีนะคะ เพราะฝ่ายจีนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,000 หยวนต่อโบกี้ต่อเที่ยวค่ะ
จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รถไฟของจีนประจำด่านผิงเสียง ชายแดนของจีน ซึ่งเป็นประตูสำคัญของการค้ากวางสี-เวียดนาม พบว่า ในขณะนี้ แม้ว่าการค้าชายแดนระหว่างจีน-เวียดนามโดยผ่านด่านผิงเสียงจะขยายตัวไปมากแต่เป็นการขนส่งทางถนน ยังไม่นิยมขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟข้ามประเทศมากนัก เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ
ตัวอย่างเช่น ต้องมีการรวบรวมสินค้าให้เต็มตู้โบกี้รถไฟ ทำให้ต้องเสียเวลารอให้มีปริมาณมากพอเพื่อให้คุ้มค่ากับการที่รถไฟจะลากออกไป และปัญหาการจัดตารางเวลาเดินรถของรถไฟ จากการที่มีเที่ยวเดินรถไฟที่จำกัดทำให้ต้องรอคิวนานในการขนส่ง รวมไปถึงปัญหาที่ฝ่ายจีนแอบบ่นมากก็คือ การที่จะต้องรอทางการเวียดนามอนุมัติมาว่า จะให้รถไฟจากจีนเดินรถขนส่งสินค้าเข้าประเทศเวียดนามเมื่อไร ทำให้เกิดความไม่แน่นอน
ในขณะนี้ จีนและเวียดนามมีเส้นทางถนนที่สะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างกันจากนครหนานหนิงจนถึงกรุงฮานอย ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จึงยังคงนิยมใช้การขนส่งทางถนนมากกว่า เนื่องจากเป็นการขนส่งแบบ Door-to-Door ทำให้สะดวกรวดเร็วและคล่องตัวกว่า ในขณะที่การขนส่งทางรถไฟจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มสูงกว่าการขนส่งทางรถ
ที่สำคัญ ในด้านการขนส่งสินค้า ความสามารถในการบรรทุกสินค้าของรถไฟจีนและเวียดนามก็แตกต่างกัน เพราะขนาดของรางที่ต่างกันทำให้รองรับสินค้าได้มากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งรถไฟของเวียดนามที่วิ่งบนรางขนาดแคบกว่าก็จะบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 30 ตันต่อโบกี้ และใช้เวลาในการวิ่งที่ช้ากว่ารถไฟจีนที่มีขนาดรางกว้างกว่าและสามารถบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 60-70 ตันต่อโบกี้
นอกจากนี้ เวียดนามสามารถรองรับการขนส่งทางรถไฟได้เต็มที่โดยเฉลี่ยประมาณ 5 เที่ยวต่อวัน หรือประมาณ 70 โบกี้ต่อวันเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดอีกประการของการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟสายนี้ที่เจ้าหน้าที่จีนเล่าให้ฟังค่ะ
โดยสรุป สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากสารพัดปัญหาและอุปสรรคของกรณีศึกษาเส้นทางรถไฟใช้จริงวิ่งข้ามประเทศระยะทางไม่ถึง 400 กิโลเมตรสายนี้ก็คือว่า ในอนาคต หากจะให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน-จีนได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องพาดผ่านหลายประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความจริงใจและจริงจังในการร่วมมือระหว่างกันนั่นเองค่ะ