โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คอลัมน์ “มองจีน มองไทย” กรุงเทพธุรกิจ
http://daily.bangkokbiznews.com/detail/41282
ชาว จีนทั่วโลกกำลังรอฉลองตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในสุดสัปดาห์นี้ ท่ามกลางกระแสคำทำนายเด็กชายปลาบู่และโหรไทยหลายสำนักในช่วงเปลี่ยนศักราชปี “ห้าห้า” ที่ผ่านมา หลายท่านถามผมว่า แล้วบรรดาซินแสในประเทศจีนเขาได้ทำนาย “ชะตากรรมของประเทศจีน” ใน ปี “มังกร” นี้กันอย่างไร
สำหรับ ลักษณะของปี “มังกร” นั้น ตามตำราฮวงจุ้ยว่ากันว่า “มังกร” เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความกล้าหาญ เป็นสัตว์ในตำนานที่แผลงฤทธิ์พร้อมห่าฝนใหญ่ เคลื่อนตัวไวดังอสุนีบาต ยากที่จะคาดการณ์ โดยทั่วไปแล้ว มักเชื่อกันว่าปีมังกรเป็นปีแห่งการริเริ่มโครงการหรือกิจการสำคัญ เป็นปีที่มากับความกล้าหาญที่จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
และยิ่งวิชา “โหราศาสตร์” มีรากฐานจากการวิเคราะห์สถิติจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ จะพบว่า ปีมังกรล้วนเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์อัน เป็นชนวนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศจีนมาโดยตลอด
ปี “มังกร” 1964 เป็นปีที่จีนเริ่มมี ปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในทั้งในทางตัวบุคคลและความคิด จนเป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในเวลาถัดมา ซึ่งสร้างบาดแผลทางจิตใจและบทเรียนทางประวัติศาสตร์ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ และประชาชนจีน
ปี “มังกร” 1976 เหมา เจ๋อตง และโจวเอินไหล เสียชีวิต อันนำไปสู่ยุคการเปิดและปฏิรูปที่ นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิง เกิดโครงการทดลองสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถริเริ่มแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดในจีน
ปี “มังกร” 1988 เริ่มมีกระแสการ เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในหมู่นักศึกษาและ ปัญญาชน จนนำไปสู่เหตุการณ์ “เทียนอานเหมิน” ในเวลาต่อมา อาจถือได้ว่ามีความพยายามที่จะขยับ ปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่เพื่อ ปฏิรูปการเมือง ซึ่งแม้อาจไม่สำเร็จลุล่วงในทันที แต่ก็ส่งผลให้รัฐบาลจีนเริ่มสนใจเรื่องการปฏิรูป การเมือง ระบบกฎหมาย การกระจายอำนาจและการตรวจสอบอำนาจมากยิ่งขึ้นตราบจนทุกวันนี้
ปี “มังกร” 2000 จีนมุ่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจชนิดยกเครื่อง และนำไปสู่ความสำเร็จในการ เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปีถัดมา เชื่อม ระบบเศรษฐกิจของจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลก เปิดยุคสมัยใหม่แห่งการค้าเสรีและเปิดประตูมังกรสู่โลกภายนอก
สำหรับ ปี “มังกร” 2012 ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นปี “ผลัดแผ่นดิน” ครั้งสำคัญ นำไปสู่การถ่ายโอนอำนาจสู่ “ผู้นำรุ่นที่ห้า” ซึ่งจะเป็นผู้นำรุ่นแรกที่ไม่ได้รับการวางตัวมาก่อนจากเติ้ง เสี่ยวผิง (ซึ่งเป็นผู้วางตัวทั้งเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่สาม และหู จินเทา ผู้นำรุ่นที่สี่) ดังนั้น “ผู้นำรุ่นที่ห้า” จึงเป็น “ผู้นำรุ่นแรก” ที่เป็นผลมาจากการประลองกำลังและรอมชอมระหว่างกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยขณะนี้เริ่มชัดเจนแล้วว่าจะได้ สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดี
ชน ชาติจีนให้ความสำคัญมากกับ “สัญลักษณ์” สำหรับ “ปีมังกร” ถือเป็น “สัญลักษณ์” ที่ดีของการเปลี่ยนแปลงด้วยความกล้าหาญ “การ ผลัดแผ่นดิน” เป็นสัญลักษณ์ที่ดีของการเริ่มต้นสู่การปฎิรูปแบบพลิกโฉมจีน ปริศนา ที่ชวนติดตาม ก็คือ ผู้นำรุ่นที่ห้านี้จะก้าวขึ้นมาพร้อมกับแนว คิดใหม่อะไร และจะกล้าหาญเพียงใด
ผมเชื่อว่า “ปีมังกร” นี้ เราจะเห็นจีน “พลิกโฉม” ในมิติด้านการเมืองและกฎหมายอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้เพราะจีน กำลังเข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจจะรุดหน้าต่อไปได้ ต้องอาศัยโครงสร้างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและระบบการเมืองที่โปร่งใสมากกว่า เดิม
วิกฤติทางการเงินในยุโรปและสหรัฐฯ กดดันให้จีนต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการเน้นการผลิตเพื่อส่ง ออกมาเป็นการเน้นกระตุ้นอุปสงค์ ตลาดภายในประเทศ และการพัฒนาภาคบริการ การกระตุ้นอุป สงค์ตลาดภายในประเทศต้องอาศัยการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า ประปา สัญญาณโทรทัศน์ ฯลฯ) ในชนบท เพื่อให้ประชาชนในชนบทมีสาธารณูปโภครองรับการจับจ่ายใช้สอยเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างๆ ได้ และต้องอาศัยการสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยที่จะลดการเก็บออมลงและเพิ่ม การจับจ่ายใช้สอย การพัฒนาชนบทต้อง อาศัยระบบการเมือง การกระจายอำนาจ และการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ การสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น และการพัฒนาภาคบริการ ต้องอาศัยการยกเครื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้นำรุ่นที่ห้าคือ สี จิ้นผิง นั้นมีดีกรีทางกฎหมาย แตกต่างจากผู้นำรุ่นก่อนๆ ซึ่งมักเล่าเรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์ ดัง นั้น หากท่านผู้นำรุ่นใหม่มุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบการเมืองและกฎหมายจีนให้มี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ย่อมเป็นชนวนที่นำไปสู่การ “พลิกโฉม” จีนครั้งสำคัญ
และ เมื่อพญา “มังกร” ขยับ มีหรือที่ประเทศไทยจะไม่สะเทือน เพราะฉะนั้นใน “ปีมังกร” ที่กำลังจะมาถึง ผมขอถือโอกาสขอบพระคุณ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เขียนประจำคอลัมน์ ที่ให้โอกาสผมมาร่วม “มองจีน มองไทย” สลับกับท่านด้วยใจระทึก