จีนจริงจังกับ “เศรษฐกิจไห่หยาง”มากเพียงใด
โดย ดร.อักษรศรี (อติ สุธาโภชน์) พานิชสาส์น
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โค้ด รัฐบาลจีน ต้องการหันมาแสวงหาและใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรทาง ทะเลและมหาสมุทรให้มากขึ้น เป็นการ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับชาติ จากเดิมที่เคยเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนผืนแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่
ดิฉันให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนใน การผลักดันเศรษฐกิจ “ไห่หยาง” หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า “ไห่ หยางจิงจี้” (Haiyang Jinji) มาตั้งแต่ครั้งที่ได้เห็นคำ นี้ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดของจีน (แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 12) เป็นครั้งแรก
ในแผนพัฒน์ฯ ฉบับนี้ ทางการจีน ระบุชัดเจนถึงความสำคัญของเศรษฐกิจ “ไห่หยาง” ภาษา อังกฤษเรียกว่า Marine Economy หรือนักวิชาการฝรั่งบางรายเรียกว่า Blue Economy เศรษฐกิจสีฟ้า คราม แต่ดิฉันขอแปลคำนี้เป็นภาษาไทยว่า“เศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร” เพราะคำว่า “ไห่หยาง” สำหรับจีน มิได้เป็นเพียงน่านน้ำใน “ทะเล” เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั่วทั้ง “มหาสมุทร” และในทางวิชาการก็ได้เริ่มนำดัชนีเศรษฐกิจที่เรียกว่า Gross Ocean Product : GOP เพื่อนำมาใช้วัดมูลค่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในทะเลมหาสมุทร” ด้วยค่ะ
ยิ่งไปกว่านั้น ในการมาเยือนไทยของท่านสีจิ้นผิง “ว่าที่ผู้นำจีนคน ใหม่” เมื่อปลาย ปีที่แล้ว ก็ได้มีการลงนามในบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทะเล ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยกับทบวงกิจการ ทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน และดิฉันได้เคยเขียนให้ข้อสังเกตไปในคอลัมน์นี้แล้วว่า เหตุ อันใดมังกรจีนจึงได้หันมาสนใจเรื่องทะเลและมหาสมุทรในห้วงยาม นี้ ถึงขนาดที่ต้องมาขอจีบชักชวน ให้ประเทศไทยร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว (อ่านรายละเอียดได้จากบทความ“ว่าที่ ผู้นำจีนรุ่นที่ 5 เยือนถิ่นแดนไทย” )
นอกเหนือจากความเกี่ยวพันกับประเด็นเชิงยุทธศาสตร์และผล ประโยชน์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้และทะเลอื่นๆ ที่รายรอบจีนและประเทศเพื่อนบ้านจีนแล้ว รัฐบาล จีนยังต้องการแสวงหาและหันมาเน้นการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก ทรัพยากรทางทะเลและภาคพื้นมหาสมุทร (ทั้งที่อยู่เหนือน้ำและใต้น้ำ)ให้มากขึ้น
รัฐบาลจีนเคยประกาศว่า ประเทศของตนมีอาณาบริเวณนอกชายฝั่งทะเลมากถึง 3 ล้านตารางกิโลเมตรและมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลราว 32,000 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งมีทรัพยากรใต้ทะเลจำนวนมหาศาลที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของ เช่น แหล่งสำรองน้ำมันทางทะเลราว 24.6 พันล้านตัน และแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติ 1.6 พันล้านลูกบาศก์เมตร
ผู้บริหารประเทศจีนให้ความสำคัญและผลักดันการพัฒนา เศรษฐกิจ “ไห่หยาง” หรือเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในแผนพัฒน์ฯ ของประเทศฉบับล่าสุด เพื่อ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม“ไห่หยาง” ของจีน ให้สามารถเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงปี 2011-2015 ทั้งนี้ สถิติในปี 2010 อุตสาหกรรม“ไห่หยาง” ของจีนมีมูลค่าประมาณ 3.84 ล้านล้านหยวน
สำหรับตัวอย่างนโยบายและมาตรการที่ทางการจีนได้นำมาใช้ อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดตั้ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจ “ไห่หยาง” หรือ Marine Economic Development Zone ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2011 และได้เร่งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ ลักษณะดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องใน 3 มณฑลสำคัญ ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง ตามลำดับ สำหรับ ข้อมูลของเขตพัฒนาเศรษฐกิจ “ไห่หยาง” ของแต่ละ 3 มณฑลนำร่อง ปรากฏในตาราง
ตารางแสดงข้อมูลเขตพัฒนา เศรษฐกิจ “ไห่หยาง” ( Marine Economic Development Zone)
มณฑล |
ซานตง |
เจ้อเจียง |
กวางตุ้ง |
ทำเลที่ตั้ง |
ชายฝั่งจีนตะวันออก |
ชายฝั่งจีนตะวันออก |
ชายฝั่งจีนตอนใต้ |
ขนาดของเขตพัฒนา Marine Economic Zone |
ครอบคลุมน่านน้ำ159,500 ตร.กม. และผืนดิน 64,000 ตร.กม. |
ครอบคลุมน่านน้ำ260,00 ตร.กม. และผืนดิน 35,000 ตร.กม. |
ครอบคลุมน่านน้ำ 419,000 ตร.กม. และผืนดิน 84,000 ตร.กม. |
ผลผลิต Marine Industry Output ปี 2010 |
700 พันล้านหยวน |
350 พันล้านหยวน |
829.1 พันล้านหยวน |
ตัวอย่างกรณีกวางตุ้ง รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้จัดทำ “แผนพัฒนาพื้นที่ทดลองเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑล” ครอบคลุมพื้นที่ใน 14 เมืองสำคัญ เช่น นครกวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา (ซานโถว) ตงกว่าน จงซาน และจ้านเจียง เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่น่านน้ำในทะเล 419,000 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่บนบก 84,000 ตารางกิโลเมตร พร้อมตั้ง เป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของกวางตุ้งให้มี มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่า GDP ของมณฑลภายในปี 2015 และ เป้าหมายระยะยาวภายในปี 2020 เพื่อให้ ทั่วทั้งมณฑลกวางตุ้งได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งด้าน เศรษฐกิจทางทะเล
ทั้งนี้ แม้ว่าแต่ละมณฑลจะมีชื่อเรียกพื้นที่พัฒนาดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เช่น มณฑลซานตงเรียกว่า Shandong Peninsula Blue Economic Zone มณฑลเจ้อเจียงเรียกว่า Zhoushan Archipelago New Area เพราะจะสร้างในเมืองโจวซานของเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้งเรียกว่า Guangdong Marine Economic Demonstration Area แต่การจัดตั้งเขตพัฒนา เศรษฐกิจ “ไห่หยาง” เหล่านั้นล้วนมีเป้าหมายที่เหมือนกัน นั่นก็คือ เพื่อเน้นส่งเสริมให้มีการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตและการใช้ประโยชน์ทาง เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทะเลและมหาสมุทร ทั้ง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลโดยตรง เช่น การประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสำรวจทรัพยากรพลังงานใต้ทะเล หรือส่วนที่เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล และสาขาการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเล เช่น การขนส่งโลจิสติกส์ทางทะเล เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ การเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มพูนมูลค่าผลตอบแทนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรให้มากขึ้น จากเดิมที่เคยเน้นใช้ประโยชน์เฉพาะทรัพยากรบนภาคพื้นดินเพียงอย่างเดียว เช่น การประกาศนโยบายพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ “ไห่หยาง” ของรัฐบาลกลาง พร้อมทั้งอัดฉีดงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลและสร้างนวัตกรรมการ จัดการทางทะเล เป็นต้น
โดยสรุป จีนต้องการหันมาเน้นการ ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรทางทะเลและภาคพื้นมหาสมุทรให้มาก ขึ้น จากเดิมที่เคยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนผืนแผ่นดินเป็นส่วน ใหญ่ ซึ่งนับวันมีแต่จะร่อยหรอและหมดไป ในขณะที่ “มหาสมุทร” ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรที่ใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้น จึง เป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับประเทศ เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับการแสวงหาแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในทิศทางใหม่ และยังเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมๆ ของจีนที่อาจอิ่มตัวในอนาคตอันใกล้
กรณีของจีนที่ได้ปรับยุทธศาสตร์ชาติหันมาเน้นเศรษฐกิจ“ไห่หยาง” อย่างจริงจัง จึงเป็นอีกเรื่องที่ดิฉันขอยกนิ้วให้ผู้บริหารประเทศของจีนที่มีวิสัยทัศน์ มองไกลไปในอนาคตและป้องกันปัญหาไว้ก่อน ไม่ใช่รอให้ปัญหาเกิดขึ้น แล้วค่อยไปตามแก้ และที่แย่กว่านั้น ก็คือ แม้จะตามไปแก้แล้ว ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะมัวแต่จะ “ทะเลาะกันรายวัน” อยู่ร่ำไป (เฮ่อ)
--