การประกันภัยในการขนส่งสินค้า
บทความจาก http://www.marinerthai.com/articles/view.php?No=600911
การประกันภัยใน การขนส่งสินค้านั้น มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการป้องกันความรับผิดของผู้ขนส่ง หรือความเสี่ยงภัยอันอาจมีขึ้นแก่ตัวสินค้าโดยผู้ซื้อหรือผู้ขายสินค้าซึ่ง จากขึ้นอยู่ว่ากรรมสิทธิและความเสี่ยงในตัวสินค้าตกอยู่แก่ฝ่ายใด อันจะต้องพิจารณาจากสัญญาการซื้อขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซื้อขายระหว่าง ประเทศซึ่งจะมี INCOTERMS (International Commercial Terms) ซึ่งร่างโดย International Chamber of Commence ซึ่งคู่สัญญาเลือกใช้ในสัญญาโดย เงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นที่เข้าใจต้องตรงกันในระดับสากล ถึงหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของคู่สัญญา ตัวอย่างเงื่อนไขซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูง เช่น
1.การซื้อขายแบบ FOB (Free on Board) ในการซื้อขายตามเงื่อนไขแบบนี้ ราคาสินค้าจะรวมค่าขนส่งสินค้าจนสินค้าพ้นกาบเรือ จากนั้นความเสี่ยงภัยและกรรมสิทธิจะโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อทันทีที่สินค้าพ้นกาบเรือ ผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ในการจัดหาเรือเพื่อขนสินค้า และทำประกันภัยสินค้า ในการซื้อขายแบบนี้ แม้ว่าจะไม่สะดวกสบายเท่าแบบ CIF แต่มีข้อดีที่ผู้ซื้อสามารถจัดหาผู้รับขนซึ่งเชื่อถือได้ด้วยตนเอง และการที่ผู้ซื้อได้ทำประกันภัยด้วยตนเองกับบริษัทประกันภัยภายในประเทศทำให้สามารถเลือกบริษัทซึ่งน่าเชื่อถือ สะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่สินค้าซึ่งเอาประกันภัยไว้เกิดความเสียหาย ทั้งยังไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ต่างชาติด้วย จึงได้มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นวางนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าด้วยเงื่อนไข CIF โดยอนุญาตให้นำเข้าในเงื่อนไข FOB เท่านั้น
2.การซื้อขายแบบ CIF (Cost, Insurance, Freight) ในการซื้อขายตามเงื่อนไขแบบนี้ ราคาสินค้าจะรวมค่าขนส่งสินค้าจนสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง รวมทั้งผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยสินค้านั้นด้วย แต่ทั้งนี้การประกันภัยดังกล่าวผู้ขายนั้นเพียงแต่ทำการแทนผู้ซื้อเท่านั้น ความเสี่ยงภัยในตัวสินค้านั้นโอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่สินค้าพ้นกาบเรือเช่นเดียวกัน กรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อได้รับใบตราส่ง(Bill of Lading) และเอกสารประกอบอื่นๆ(Invoice, Insurance policy) หลังจากที่ได้มีการชำระราคาสินค้าแล้ว ซึ่งโดยปกติจะเป็นการชำระผ่านธนาคารตามLetter of Credit การซื้อขายแบบนี้จึงเป็นการซื้อขายที่เรียกว่า Payment against Document โดยชำระเงินค่าสินค้าเมื่อได้รับเอกสารครบถ้วน โดยไม่คำนึงว่าจะยังมีสินค้าอยู่หรือไม่ เช่น หลังจากได้ส่งสินค้าลงเรือแล้ว แม้ระหว่างทางเรือดังกล่าวเกิดอับปาง หากผู้ขายได้ส่งเอกสารตามที่ตกลงไว้ให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้ ผู้ซื้อจะต้องรับเอกสารดัวกล่าวแล้วไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยอีกชั้นหนึ่ง
การประกันภัยในการขนส่งสินค้าก็มีหลักเช่นเดียวกับการประกันภัยอื่นๆ คือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสีย (Insurable Interest) ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามมาตรา 863 ป.พ.พ. โดยผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เอาประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ทรัพย์สินนั้นคงมีสภาพเป็นทรัพย์สินนั้นอยู่ หรือจะได้รับความเสียหายจากการที่ทรัพย์สินนั้นได้ถูกทำลายหรือบุบสลายไปในระหว่างการขนส่ง และประโยชน์ที่ได้หรือเสียไปนั้นสามารถตีราคาเป็นเงินได้
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้เอาประกันภัยนั้นจะต้องมีส่วนได้เสียในขณะเอาประกันภัยเท่านั้นจึงจะสามารถทำประกันภัยได้ เพียงแต่มีความคาดหวังตามสมควรว่าจะเข้ามีส่วนได้เสียก็เพียงพอ แต่การที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมนั้น จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในขณะที่เกิดภัย ดังจะเห็นได้จาก Marine Insurance Act 1906 ของประเทศอังกฤษ Section 6(1) “The assured must be interested in the subject matter insured at the time of the loss though he need not be interested when the insurance is effected” ยกตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อตามสัญญา FOB ได้ทำประกันภัยสินค้าซึ่งตนเองสั่งซื้อไว้ แม้ว่าในขณะทำสัญญาสินค้านั้นยังไม่ได้มีอยู่สัญญาประกันภัยดังกล่าวก็มิได้เสียไป แต่มาหากได้มีการนำสินค้าดังกล่าวลงเรือเรียบร้อยแล้วเกิดความเสียหายขึ้นกับสินค้า ผู้ซื้อก็สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัยได้เพราะในขณะเกิดความเสียหาย ความเสี่ยงภัยในตัวสินค้าได้โอนมายังผู้ซื้อแล้ว ในทางกลับกันหากผู้ขายได้ทำการประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้เช่นกัน แต่ในเมื่อสินค้าดังกล่าวเกิดความเสียหายเมื่อลงเรือเรียบร้อย ผู้ขายก็ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ เพราะผู้ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าดังกล่าวนับตั้งแต่สินค้าพ้นกาบเรือ
การประกันภัยในการขนส่งสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยในลักษณะต่อเนื่องจากการประกันภัยทางทะเล Transit Clauses หรือเป็นการประกันภัยขนส่งภายในประเทศ โดยหลักการพื้นฐานแล้วจะคล้ายคลึง ในเรื่องการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยนั้นโดยปกติที่ทำกันคือมักจะทำกันโดยเอาประกันที่ 110% ของราคา CIF แต่โดยหลักการแล้วผู้เอาประกันอาจเอาประกันถึง 130% หรือ 150% เพราะผู้เอาประกันสามารถบวกเอาต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และกำไรซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับจากสินค้าดังกล่าวเมื่อถึงที่หมายปลายทางก็ได้ แต่ทั้งนี้ควรแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
ในส่วนเรื่องของความคุ้มครองนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแบบประกันภัย ที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อ โดยจะมีแบบหลัก ดังนี้คือ
1. การประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล หรือ ในกรณีที่มีการขนส่งมากกว่าหนึ่งรูปแบบและมีการขนส่งสินค้าทางทะเลรวมอยู่ด้วย โดยลักษณะของการประกันภัยการขนส่งจะเป็นลักษณะ Warehouse to Warehouse (คือการประกันภัยสินค้าตั้งแต่ต้นทาง นับแต่สิ้นค้าออกโกดังสิ้นค้าต้นทาง จนถึงผู้รับ ณ โกดังสิ้นค้าปลายทาง หากเป็นการต่อเนื่องจากประกันภัยทางทะเลกรมธรรม์จะคุ้มครองตัวสินค้าตั้งสิ้นค้าออกโกดังสิ้นค้าต้นทาง จนถึงผู้รับ ณ โกดังสินค้าปลายทาง ไม่ว่าสินค้าจะถูกขนถ่ายต่อโดยทางรถยนต์ หรือรถไฟก็ตามการประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล จะมีแบบหลักๆ อยู่ 3 แบบ คือ Institute Cargo Clauses A, B, C โดยจะเรียกกันโดยย่อว่า ICC (A), ICC (B) และ ICC (C) ซึ่งจะเรียงตามลำดับจาก ICC (A) ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด จนไปถึง ICC (C) ซึ่งให้ความคุ้มครองต่ำที่สุด ดังต่อไปนี้
1) Institute Cargo Clauses A จะเป็นการประกันภัยสินค้าซึ่งคุ้มครองความเสี่ยงภัยทั้งหมดทุกประเภท ที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายให้กับวัตถุที่เอาประกัน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น เงื่อนไขความคุ้มครองตามแบบนี้ถือเป็นแบบที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด ซึ่งจะคุ้มครองแม้ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยทุจริตของนายเรือ ลูกเรือ หรือแม้แต่เจ้าของเรือ หากผู้เอาประกันไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยในการทุจริตนั้น ให้ความคุ้มครองแม้ในกรณีที่เรือซึ่งใช้ขนสินค้าไม่มีความพร้อมในการเดินทะเล (Unseaworthiness) หากผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าไม่ทราบถึงความไม่พร้อมของเรือดังกล่าว อย่างไรก็ตามอัตราเบี้ยประกันภัยแบบ A จะสูงกว่าแบบ B และ C ประมาณหนึ่งเท่าตัว
2) Institute Cargo Clauses B จะเป็นการประกันภัยสินค้าซึ่งคุ้มครองความเสี่ยงภัยเฉพาะเจาะจง (Named Perils) ตามที่ได้ระบุไว้ตามกรมธรรม์เท่านั้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้ ความเสียหายจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า สินค้าถูกน้ำซัดตกเรือไป(washing overboard) น้ำจากแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือน้ำรั่วไหลเข้ามาในเรือ ยานพาหนะหรือสถานที่เก็บสินค้า กรณีที่สินค้าทั้งหีบห่อเสียหายโดยสิ้นเชิงเพราะตกจากเรือ หรือเกิดจากการขนขึ้นลงจากเรือหรือยานพาหนะ และความคุ้มครองทั้งหมดตามที่ระบุไว้ใน ICC (C)
3) Institute Cargo Clauses C จะเป็นการประกันภัยสินค้าซึ่งคุ้มครองความเสี่ยงภัยเฉพาะเจาะจงตามที่ได้ระบุไว้ตามกรมธรรม์เท่านั้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้ ความเสียหายเนื่องจากเพลิงไหม้ ระเบิด เรือเกยตื้น จมหรือล่ม ยานพาหนะทางบกพลิกคว่ำหรือตกจากราง เรือหรือยานพาหนะขนหรือโดนกับวัตถุอื่นใด การขนส่งสินค้าลงจากเรือ ณ ท่าหลบภัย ความเสียหายที่เกิดกับส่วนรวม (General Average Sacrifice) ความเสียหายจากการที่สินค้าถูกโยนทิ้งทะเล(Jettison) โดยความเสียหายดังกล่าวจะเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนก็ได้ ข้อยกเว้นความคุ้มครองของ Institute Cargo Clauses ต่างๆ มีดังต่อไปนี้
1. ข้อยกเว้นทั่วไป ในเงื่อนไขข้อ 4 ของ Institute Cargo Clause
- ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำโดยมิชอบของผู้เอาประกัน (Willful Misconduct of the Assured)
- ความเสียหายจากการรั่วซึม การขาดหายไปของน้ำหนัก และการสึกหรอตามปกติของวัตถุที่เอาประกันภัย เช่นกรณีน้ำหนักของเมล็ดพืชขาดไปเพราะความชื้นในเมล็ดลดลง
- ความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการบรรจุหีบห่อที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม (Insufficient Packing) เช่นในกรณีที่สินค้าในกล่องกระทบกันเองจนเกิดความเสียหาย หรือถุงบรรจุสินค้าเกิดการแตกระหว่างทางเพราะใช้ถุงที่ไม่เหมาะสม ค่าใช้จ่ายในการบรรจุใส่ถุงใหม่ผู้เอาประกันไม่สามารถเรียกร้องจากผู้รับประกันโดยอ้างว่าเป็นการบรรเทาความเสียหายอันจะเกิดขึ้น
- ความเสียหายซึ่งมีสาเหตุจากข้อเสียซึ่งมีอยู่ในตัววัตถุที่เอาประกันภัยเอง หรือสิ่งซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของวัตถุดังกล่าว (Inherent Vice) โดยมากจะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร หรือสารเคมี
- ความเสียหายซึ่งมีสาเหตุจากความล่าช้า แม้ว่าจะเกิดจากภัยที่คุ้มครอง (Delay)
- ความเสียหายซึ่งมีสาเหตุจากการล้มละลายของผู้รับขน ซึ่งอาจเป็นเจ้าของเรือ (Ship owner) หรือผู้เช่าเหมาเรือ (Charterer)
- ความเสียหายซึ่งมีสาเหตุโดยเจตนา หรือทำลายวัตถุที่เอาประกันโดยเจตนาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งไม่ใช่ตัวผู้เอาประกันภัย ดังนั้นจึงอาจหมายความรวมถึงการกระทำของนายเรือ ลูกเรือหรือเจ้าของเรือได้ด้วย แต่ทั้งนี้เงื่อนไขข้อยกเว้นในข้อนี้ใช้เฉพาะกับ ICC (B) และ (C) เท่านั้น แต่จะได้รับความคุ้มครองตาม ICC (A)
- ความเสียหายซึ่งมีสาเหตุจากอาวุธสงครามที่เกี่ยวข้องกับการแตกประจุของอะตอมนิวเคลียร์ หรือกัมมันตรังสี
2. ข้อยกเว้นความไม่สมบูรณ์และความไม่พร้อมออกเดินทะเล (Unseaworthiness or Unfitness) บริษัทชดใช้ความเสียหายเมื่อในเรือซึ่งไม่พร้อมออกทะเลไปบรรทุกสินค้า ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้เอาประกันมีส่วนรู้เห็นด้วย
3. ข้อยกเว้นภัยสงคราม ครอบคลุมถึง สงคราม สงครามกลางเมือง กบฏ ปฏิวัติ การก่อความวุ่นวายของฝูงชน การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ของชาติศัตรู การยึด จับกุม หน่วงเหนี่ยว กักกันภัยจากทุ่นระเบิด อาวุธสงครามซึ่งถูกทอดทิ้งเอาไว้
4. ข้อยกเว้นการนัดหยุดงาน ครอบคลุมถึง ความเสียหายอันเกิดจากการนัดหยุดงาน จลาจลและการก่อการร้าย หรือการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขข้อยกเว้นความคุ้มครองตามข้อ 3 และ 4 ในเรื่องสงครามและการนัดหยุดงานนั้น ผู้เอาประกันภัยสามารถซื้อความคุ้มครองดังกล่าวเพิ่มเติมได้ ตาม Institute War Clauses (Cargo) และ Institute Strikes Clauses (Cargo) แต่เงื่อนไขข้อยกเว้นความคุ้มครองตามข้อ 1 และ 2 นั้นไม่อาจซื้อเพิ่มเติมได้
2. การประกันภัยการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ความคุ้มครองนั้นจะเริ่มตั้งแต่เวลาที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้ทำการขน ถ่ายขึ้นไปยังยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ณ คลังสินค้า หรือสถานที่เก็บทรัพย์สินนั้นตามที่ระบุชื่อไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยและ จะคุ้มครองตลอดระยะเวลาในระหว่างการขนส่งตามเส้นทางและวิธีการขนส่งตามปกติ นิยม ความคุ้มครองจะสิ้นสุดลงเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันได้ถูกขนออกไปจากยาน พาหนะนั้นหมดสิ้นแล้ว ณ จุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ หรือเมื่อกำหนดระยะเวลาประกันภัยสิ้นสุด แล้วแต่ว่าเวลาใดจะถึงกำหนดก่อน การประกันภัยนั้นอาจทำเป็นรายเที่ยว หรือเป็นรายปีโดยการประเมินปริมาณสินค้าที่จะมีการขนส่งทั้งปีก็ได้ โดยจะมีแบบประกันที่พบกันอยู่เสมอ 2 แบบ คือ
1) กรมธรรม์คุ้มครองภัยทุกประเภท (All Risk Cover) กรมธรรม์ประเภทนั้นจะให้ความคุ้มครองทุกประเภท เว้นแต่ภัยที่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าความเสียหายทุกประเภทที่เกิดกับสินค้าจะได้รับความ คุ้มครอง ความเสียหายที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นภัย หรือความเสี่ยง (Peril or Risk) คือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือไม่ได้คาดหมาย (Fortuitous or Unexpected) หากเป็นความเสียหายซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สามารถคาดหมายได้และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์เช่นในกรณีที่ข้าวซึ่งมีความชื้นสูงใน ระดับซึ่งไม่สามารถที่จะทนต่อสภาวะการขนส่งได้ซึ่งจะต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง อย่างแน่นอนก่อนที่จะถูกขนส่งจนถึงที่หมาย แม้ข้าวนั้นจะได้เอาประกันภัยไว้และข้าวได้รับความเสียหาย ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะความเสียหายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภัยใดๆถือ เป็น Inherent Vice
2) กรมธรรม์ประกันภัยขนส่งแบบเลือกข้อ โดยกรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้จะเป็นการรวมเอาเงื่อนไขกรมธรรม์แบบคุ้มครองภัย เฉพาะอย่างและแบบคุ้มครองภัยทุกประเภทไว้ด้วยกันโดยจะเป็นการให้ผู้เอา ประกันภัยเลือกประเภทของความคุ้มครองตามที่ตนเองต้องการ แบบประกันภัยการขนส่งประเภทนี้ปัจจุบันได้ใช้กันแพร่หลาย โดยเงื่อนไขความคุ้มครองนั้นจะมีทั้งหมด 6 ข้อ โดยเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปตามระดับความคุ้มครอง โดยเรียงลำดับจากความคุ้มครองต่ำที่สุดในข้อ 1 จาไปถึงระดับความคุ้มครองสูงที่สุดในข้อ 6
1. ความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมี สาเหตุที่เกิดขึ้นโดยตรงจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งได้เกิดความเสียหายหรือ สูญเสียโดยสิ้นเชิงจาก อัคคีภัย การระเบิด ยานพาหนะนั้นชนยานพาหนะชนิดใด หรือชนกับสิ่งใดภายนอกยานพาหนะนั้น (ซึ่งมิใช่ถนน ทางเท้า หลุมบนถนน อากาศ น้ำ) เรือจม เรือเกยตื้น เครื่องบินตก รถหรือรถไฟคว่ำ ตกสะพาน ตกราง หรือสะพานขาดความเสียหายซึ่งจะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ สินค้าเสียหายโดยสิ้นเชิงและยานพาหนะที่ใช้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้รับความ เสียหายโดยสิ้นเชิงด้วยเท่านั้นหากยานพาหนะนั้นไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิง แม้ว่าสินค้าจะได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
2. ความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุ ที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้นประสบภัยโดยตรงจาก อัคคีภัยการระเบิด ยานพาหนะนั้นชนยานพาหนะชนิดใด หรือชนกับสิ่งใดภายนอกยานพาหนะนั้น (ซึ่งมิใช่ถนน ทางเท้า หลุมบนถนน อากาศ น้ำ) เรือจม เรือเกยตื้น เครื่องบินตก รถหรือรถไฟคว่ำ ตกสะพาน ตกราง หรือสะพานขาดในกรณีนี้ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง ในการพิจารณาจะไม่พิจารณาในส่วนนี้ แต่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะต้องเสียหายโดยสิ้นเชิงเท่านั้น หากเสียเพียงบางส่วนจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
3. ความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกัน ภัยโดยมีสาเหตุที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้นประสบภัยโดยตรง จาก อัคคีภัย การระเบิด ยานพาหนะนั้นชนยานพาหนะชนิดใด หรือชนกับสิ่งใดภายนอกยานพาหนะนั้น (ซึ่งมิใช่ถนน ทางเท้า หลุมบนถนน อากาศ น้ำ) เรือจม เรือเกยตื้น เครื่องบินตก รถหรือรถไฟคว่ำ ตกสะพาน ตกราง หรือสะพานขาด ในกรณีนี้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไม่จำเป็นที่จะต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง หากเกิดการเสียหายบางส่วนจากภัยที่ระบุก็จะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายที่แท้จริง
4. ก. ความคุ้มครองตามข้อ 3 และ ข. ความเสียหายหรือสูญเสียโดยสิ้นเชิงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหีบห่อใดหีบห่อหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรงในระหว่างการขนขึ้นหรือขนลงจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้น ความคุ้มครองตามข้อนี้จะมีผลบังคับ ในกรณีที่สินค้ามีการบรรจุไว้เป็นหีบห่อ และในระหว่างการขนขึ้นหรือขนลงจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้น หีบห่อใดหีบห่อหนึ่งเกิดความสูญเสียโดยสิ้นเชิงเท่านั้นจึงจะได้รับความคุ้มครอง ยกตัวอย่างเช่น ไข่ไก่1ลังมีไข่ไก่ 100 ฟอง หากลังดังกล่าวตกหล่นจากรถในระหว่างขนลงจากรถแล้ว ไข่ไก่แตกไปจำนวน 80 ฟองก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ไข่ไก่จะต้องแตกทั้งหมดจึงจะได้รับความคุ้มครอง
5. ก. ความคุ้มครองตามข้อ 3 และ 4 ข. และ ข. ความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกัน ภัย โดยมีสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยตรงจากภัยแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า น้ำทะเล น้ำแม่น้ำ น้ำฝน น้ำจืด น้ำทะเลสาปความคุ้มครองตามข้อนี้ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งจะได้รับความเสีย หายหรือไม่ก็ได้และทรัพย์สินจะเสียหายบางส่วนหรือสิ้นเชิงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นในระหว่างทางฝนตกลงมาทำให้สินค้าเสียหายก็จะได้รับความคุ้ม ครอง
6. ความเสียหายหรือการสูญเสียโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนของทรัพย์สินที่เอาประกัน ภัยจากการเสี่ยงภัยทุกชนิดที่เกิดขึ้นจากเหตุภายนอกของทรัพย์สินนั้นความ คุ้มครองตามข้อนี้จะเป็นความคุ้มครองที่สูงที่สุด โดยจะครอบคุมความเสี่ยงภัยทั้งหลายทั้งปวงตามข้อ1-5 ไว้ทั้งหมด เป็น All Risk Cover
การพิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. กรมธรรม์คุ้มครองภัยทุกประเภท (All Risk Cover) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กรมธรรม์ประเภทนั้นจะให้ความคุ้มครองทุกประเภท เว้นแต่ภัยที่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ ดังนั้นในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่เพียงพิสูจน์ว่าภัยดังกล่าวไม่ใช่ภัยอย่างหนึ่งอย่างใดในข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ ผู้รับประกันภัยก็มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทุกกรณีซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้น
2. กรมธรรม์คุ้มครองภัยเฉพาะอย่าง (Named Perils) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กรมธรรม์ประเภทนั้นจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภัยประเภทที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้น กรมธรรม์ดังนั้นในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ในการพิสูจน์ต่างจากกรมธรรม์ประเภทแรกคือ จะต้องพิสูจน์ว่าภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยที่ได้อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์
ปัญหาการใช้การตีความในทางปฏิบัติ
1. กฎหมายที่ใช้ในสัญญาประกันภัย จะสามารถพบเห็นกันได้ในกรมธรรม์ Institute Cargo Clause A, B และ C หากสังเกตกรมธรรม์ทั้ง 3 แบบที่ใช้ในประเทศไทยในขณะนี้จะพบคำว่า “subject to English Law” ซึ่งหมายความว่าให้ตีความตามกฎหมายของประเทศอังกฤษจึงอาจทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งก็มีเหตุผลเนื่องมาจากกรมธรรม์ทั้งหมดนี้ได้นำมาจากของอังกฤษ ยังมีข้อสงสัยต่อไปว่าแล้วศาลไทยจะใช้และตีความตามกฎหมายอังกฤษหรือไม่ เพราะโดยหลักแล้วศาลจะต้องใช้กฎหมายไทยในการตัดสินคดี ในเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเรื่อง Choice of Law โดยการที่คู่สัญญาแสดงเจตนาที่จะเลือกกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับกับสัญญา
การประกันภัยนั้น เป็นนิติกรรมสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ในเรื่องต่างๆ ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา คู่สัญญาสามารถตกลงกันในเรื่องต่างๆได้เช่น การเลือกใช้อนุญาโตตุลาการแทนการฟ้องคดีในศาล หรือการเลือกใช้เงื่อนไขการซื้อขาบตามINCOTERMS ซึ่งอาจมีผลหลักในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์และความเสี่ยงภัยต่างไปจากเดิม เว้นแต่ในกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
2.ปัญหาเรื่องความสบสนของผู้เอาประกันในแบบประกันภัยขนส่งภายในประเทศชนิด เลือกข้อ ในเรื่องนี้ได้เกิดมีปัญหาอยู่เสมอๆ เนื่องจากกรมธรรม์ดังกล่าวค่อนข้างจะเข้าใจยากสำหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากมีการนำเอาเงื่อนไขความคุ้มครองหลายชนิดมารวมอยู่ด้วยกัน โดยมักเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างภัยซึ่งผู้เอาประกันเข้าใจว่าตนได้ รับความคุ้มครอง กับภัยซึ่งได้มีการระบุไว้บนหน้าตารางกรมธรรม์ ซึ่งบนหน้าตารางกรมธรรม์จะมีช่องเล็กๆเพียงช่องเดียวเพื่อระบุตัวเลขของ เงื่อนไขความคุ้มครองซึ่งจะต้องไปอ่านในเงื่อนไขความคุ้มครองในตัวกรมธรรม์ อีกชั้นหนึ่ง บริษัทจึงควรแก้ไขแบบประกันให้เกิดความชัดเจน โดยแยกเงื่อนไขความคุ้มครองทั้ง 6 ข้อเป็นกรมธรรม์แต่ละแบบแยกต่างหากจากกัน
3. การตีความเงื่อนไขความคุ้มครองตามข้อ 3 ซึ่งระบุว่าความเสียหายนั้นต้องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดนมี สาเหตุจากยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งชนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกยานพาหนะนั้น ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งประสบอัคคีภัยหรือการระเบิด
- กรณีแรก การตีความเงื่อนไขความคุ้มครองตามข้อ 3 ว่า ความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย หรือภัยระเบิด อันเกิดแก่สินค้าจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะ กรณีที่ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งประสบอัคคีภัยหรือการระเบิดเท่านั้น หากเกิดอัคคีภัยหรือการระเบิดขึ้นกับตัวสินค้าโดยไม่ได้เกิดจากยานพาหนะจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เป็นการใช้การตีความที่ผิดวัตถุประสงศ์ของกรมธรรม์ประกันภัยสินค้า Cargo policy อย่างยิ่ง เพราะกรมธรรม์มิได้มุ่งคุ้มครองยานพาหนะ โดยจะเห็นได้ชัดหากเปรียบเทียบกับ Institute Cargo Clauses B “cl.1.1.1 fire or explosion”ซึ่งหมายถึงกรณีที่เกิดอัคคีภัยหรือภัยระเบิด อันเป็นเหตุให้สินค้าได้รับความเสียหายโดยไม่คำนึงว่ายานพาหนะที่ใช้ขนส่งจากเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
- มีกรณีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยสินค้าซึ่งอยู่ในระหว่างขนส่งไปชนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้รับความเสียหาย แต่ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งไม่ได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้ชนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย บริษัทจึงปฏิเสธโดยอ้างว่าเหตุดังกล่าวไม่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไข เมื่อวินิจฉัยแล้วการปฎิเสธดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามเงื่อนไข กรณีนี้ผู้เอาประกันภัยจะต้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอาจากผู้ขนส่งหรือผู้กระทำละเมิด แต่หากเป็นกรณีความคุ้มครองตามข้อ 6 จะคุ้มครองถึงกรณีดังกล่าวด้วย บริษัทจะต้องรับผิดชอบ
- อีกกรณีหนึ่งคือการที่รถคันที่เอาประกันภัยนั้นพยายามหลบเลี่ยงหรือปัดป้องภัยอันได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ แล้วเกิดความเสียหายขึ้นกับตัวสินค้าโดยความเสียหายดังกล่าวผู้รับประกันภัยอ้างว่าไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ กล่าวคือกรมธรรม์ขนส่งภายในประเทศตามข้อ 3 นั้นจากไม่คุ้มครองการที่สินค้าตกโดยยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าไม่ได้ประสบอุบัติเหตุขนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่กรณีที่เกิดขึ้นแล้วคือ รถคันที่เอาประกันหักหลบรถที่วิ่งสวนทางเข้ามาแล้วสินค้าที่อยู่บนรถดังกล่าวซึ่งเป็นแผ่นกระเบื้องตกแตกเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ายานพาหนะไม่มีการชน แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นหากรถคันที่เอาประกันไม่หักหลบจะต้องเกิดการชนประสานงาซึ่งสินค้าจะต้องได้รับความเสียหายซึ่งอาจถึงขณะสิ้นเชิง (Total Loss) และในเรื่องลักษณะเช่นนี้ก็ได้เคยมีคำพิพากษาศาลอังกฤษกล่าวไว้ว่า ความเสียหายซึ่งเกิดจะการปัดป้องภัยซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ให้ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากภัยซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ บริษัทจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมดังกล่าวทั้งยังถือได้ว่าผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว
การกระทำดังกล่าวของผู้เอาประกันเป็นการทำตามหน้าที่เพื่อปัดป้องภัย และบรรเทาความเสียซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ผู้รับประกันภัยด้วย ซึ่งมีหลัก Sue and Labour รองรับอยู่โดยหลักดังกล่าวมีว่า “ In case of loss or misfortune it is the duty of the assured to take any measures as may be reasonable for purpose of averting or minimising a loss” ซึ่งผู้เอาประกันจะมีหน้าที่ในการใช้มาตราการที่เหมาะสมในการที่จะปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายโดยค่าใช้จ่ายในการดังกล่าวผู้รับประกันจะต้องรับผิด ชอบแต่ต้องไม่เกินทุนประกัน โดยแยกจากทุนประกัน ซึ่งหมายความว่าผู้รับประกันอาจต้องจ่ายค่าสินไหมถึง 200% ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันเสียหายโดยสิ้นเชิง 100% และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหายอีกไม่เกิน100% หากใช้เงื่อนไขตาม Institute Cargo Clauses
- อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องที่รถซึ่งบรรทุกสินค้าที่เอาประกันขับรถแล้วเข้าโค้งไม่ดี หรือโดยไม่ระมัดระวังแล้วสินค้าตกเสียหาย หากเป็นเงื่อนไขตามข้อ 3 จะเห็นได้ชัดเจนว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ได้มีการชน หรือเข้าความคุ้มครองอื่นใดเลย
จากข้อเท็จจริงทั้งสี่ข้อข้างต้นซึ่งเกิดปัญหานั้น หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นความคุ้มครองตามเงื่อนไขข้อ 6 ซึ่งคุ้มครองภัยทุกประเภทแล้วก็จะไม่มีปัญหาเลย เพราะบริษัทจะต้องรับผิดในทุกกรณี เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นใดใด
4.ปัญหาเรื่องเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) และความเสียหายต่อเนื่อง (Consequence Loss) ซึ่งภัยที่จากได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งภายในประเทศนั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยที่คุ้มครองโดยตรง และไม่คุ้มครองความเสียหายต่อเนื่อง แม้ว่าความเสียหายนั้นจะต่อเนื่องจากภัยที่คุ้มครองก็ตาม
กรณีที่เกิดขึ้นก็คือ ตามเงื่อนไขความคุ้มครองในข้อ 3 รถซึ่งบรรทุกสินที่เอาประกันซึ่งเป็นอาหารกระป๋องแช่แข็งได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการที่รถชนส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่รถชนนั้นทำให้ตู้เย็นในรถเสียและสินค้าทั้งหมดเน่าเสียหาย ผู้รับประกันภัยยอมชดใช้ค่าเสียหายต่อสินค้าที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการที่รถชนส่วนหนึ่ง แต่ปฏิเสธความรับผิดในสินค้าที่เน่าเสียหาย โดยอ้างว่าเกิดจากความเสียหายต่อเนื่องในเรื่อง Proximate Cause หลักนั้นมีว่าจะต้องเป็น “Efficient or Predominate Cause” หมายความว่าจะต้องเป็นสาเหตุที่มีผลหรืออยู่เหนือความเสียหายนั้น โดยไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเข้ามาขั้นหรือแทรกให้ผลของเหตุการณ์แรกต่อความเสียหายหมดไป
หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าการที่ตู้เย็นของรถคันดังกล่าวเสียเป็นผลโดยตรงใกล้ชิดจากการชน และการที่สินค้าเน่าเสียหายจึงย่อมสามารถถึงได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการชนดังกล่าว ไม่ใช่ความเสียหายต่อเนื่องเพราะไม่มีเหตุการอื่นที่ทำให้ผลของการชนนั้นขาดช่วงไป ผู้รับประกันจะต้องรับผิดในความเสียหายในสินค้าที่เน่าด้วย แต่อาจจะอ้างความผิดของผู้เอาประกันภัยเพื่อการเฉลี่ยความเสียหายได้หาก ผู้เอาประกันสามารถหารถตู้เย็นคันใหม่มาได้ แต่ไม่ได้ทำในเวลาอันสมควร เพราะถือว่าผิดหน้าที่
ในส่วนความเสียหายต่อเนื่องซึ่งไม่ได้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์นั้น จะเป็นได้ในกรณีที่สินค้าในส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการชน แต่ขนลงมารอรถคันใหม่ระหว่างนั้นเกิดฝนตกมาทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย หรือในกรณีที่เกิดรถชนกันแล้วชาวบ้านรุมเข้ามาขโมยสินค้า จึงจะถือได้ว่าเป็นภัยต่อเนื่องซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครอง
5. กรมธรรม์คุ้มครองภัยทุกประเภท (All Risk Cover) แต่ผู้รับประกันภัยได้ทำสัญญาแนบท้ายตัดทอนความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ โดยจะระบุประเภทภัยที่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเป็นลักษณะของกรมธรรม์ประเภทระบุประเภทภัยซึ่งขัดกลับหลักการของกรมธรรม์คุ้มครองภัยทุกประเภทอย่างร้ายแรง เพราะผู้รับประกันจะต้องให้ความคุ้มครองภัยทุกประเภทซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้น จะระบุว่าคุ้มครองภัยเฉพาะอย่างไม่ได้ ดังนั้นหากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจะต้องตีความตามสัญญาหลักโดยไม่ต้องพิจารณาสัญญาแนบท้าย
6.การปฏิเสธการ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอาศัยข้อรับรองในกรมธรรม์ขนส่งภายในประเทศ กรณีที่ทรัพย์สินที่บรรทุกมีกรมธรรม์ประกันภัยชนิดอื่นหรือมีการประกันภัย หลักซึ่งคุ้มครองโดยตรงอยู่แล้ว ให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์หลักนั้นก่อนพิจารณากรมธรรม์ฉบับนี้แทน หรือใช้การเฉลี่ยตามสัดส่วนปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่เจ้าของสินค้าได้เอา ประกันภัยทางทะเลในตัวทรัพย์สินเอาไว้แล้วพอถึงขั้นตอนของผู้รับขนภายใน ประเทศ ผู้รับขนได้ทำประกันภัยขนส่งภายในประเทศ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นต่อสินค้าในขณะขนส่งภายในประเทศ โดยหลักแล้วเจ้าของสินค้ามีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก บริษัทประกันภัยซึ่งรับประกันภัยตัวสินค้าดังกล่าวไว้หรือเรียกเอาจากผู้รับ ขนส่งโดยตรงก็ได้ ซึ่งโดยปกติเจ้าของสินค้าควรจะเลือกที่จะเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัย เพราะจะสะดวกกว่า
แต่เมื่อเจ้าของสินค้ามาเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับขนภายในประเทศ ผู้รับประกันภัยกลับยกเอาข้อรับรองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โดยอ้างว่าจะต้องมีการ เรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยสินค้าทางทะเลซึ่งเป็นการประกันภัยหลักก่อน
ข้อต่อสู้ที่อ้างว่าจะต้องมีการเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยสินค้าทาง ทะเลซึ่งเป็นการประกันภัยหลักก่อนนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้เพราะการประกันภัยทางทะเลนั้นผู้รับขนส่งสินค้าไม่ได้ เป็นคู่สัญญาอยู่ด้วยจึงไม่มีสิทธิใดๆในอันที่จะเรียกร้องจากผู้รับประกัน ภัยสินค้าทางทะเลดังกล่าว
หากพิจารณาหลักการในเรื่องการประกันภัยหลายรายซึ่งจะใช้หลักการเฉลี่ยนั้น ตามมาตรา 870 ป.พ.พ. ได้ระบุไว้ว่า “ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยไว้เป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
เมื่อพิจารณาจากหลักการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้รับประกันภัยไม่สามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิด เพราะการที่จะเฉลี่ยความรับผิดได้นั้น จะต้องเป็นการเอาประกันภัยในส่วนได้เสียเดียวกัน แต่กรณีตามข้อเท็จจริงนั้น ส่วนได้เสียของผู้รับขนสินค้าภายในประเทศเป็นเรื่องของความรับผิดตามสัญญาขนส่งสินค้า แต่ส่วนได้เสียของเจ้าของสินค้าเป็นส่วนได้เสียในกรรมสิทธิ์เหนือสินค้า จึงเป็นการเอาประกันภัยในส่วนได้เสียคนละประเภทกันไม่สามารถนำมาเฉลี่ยกันได้ และปัญหาเกิดจากการใช้กรมธรรม์ประกันภัยผิดประเภท ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่จะให้ความคุ้มครองต่อผู้ขนส่งควรจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้น หาใช่กรมธรรม์ที่คุ้มครองตัวสินค้าไม่