วิธีการชำระเงินในการค้าระหว่างประเทศ โดย สสว.
ในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ หรือการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายอยู่กันคนละประเทศ นอกจากจะต้องมีการตกลงกันว่าจะซื้อขายสินค้าอะไรปริมาณเท่าไร ราคาเท่าไร ส่งมอบกันอย่างไร ส่งมอบกันเมื่อไร แล้วเรื่องสำคัญที่จะตกลงกันอีกเรื่อง คือ วิธีการชำระเงิน วิธีการชำระเงินค่าสินค้า ในการค้าระหว่างประเทศที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมี 4 วิธี คือ
1. การชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment)
2. เปิดบัญชี (Open Account)
3. ตั๋วเงินเพื่อการเรียกเก็บที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Bill For Collection)
4. เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Letter of Credit)
วิธีที่ 1 การชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment)
วิธี การแบบนี้ เป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยผู้ซื้อจะโอนเงินหรือส่งดร๊าฟ (Draft) ไปให้ผู้ขายพร้อมกับการสั่งซื้อสินค้า เมื่อผู้ขายได้รับชำระค่าสินค้าแล้ว จะส่งสินค้ามาให้ผู้ซื้อ วิธีนี้มักจะใช้เฉพาะสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก เช่น สั่งซื้อสินค้าตัวอย่าง หนังสือตำรับตำรา หรือในกรณีในขณะที่สินค้าหายาก และสินค้านั้นเป็นที่ต้องการทั่วไป หรือเครดิตของผู้ซื้อยังไม่เป็นที่เชื่อถือ วิธีการนี้ผู้ซื้อมีความเสี่ยงและเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะต้องจ่ายเงินไป ก่อนที่จะได้รับสินค้าและไม่แน่ว่าจะได้รับสินค้าตรงตามที่สั่งซื้อไปหรือ ไม่
วิธีที่ 2 เปิดบัญชี (Open Account)
การซื้อขายแบบ “เปิดบัญชี” เป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยที่ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าภายหลังจากได้รับสินค้า จะเป็น 30 วัน หรือ 60 วัน หลังจากสินค้าลงเรือ หรือขึ้นเครื่องบินแล้วแต่จะตกลงกัน หลังจากนั้นผู้ขายจะจัดการส่งสินค้า และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้ผู้ซื้อโดยตรงเพื่อที่ผู้ซื้อจะได้ดำเนินการนำสินค้าออกท่าเรือหรือสนามบินมาขายก่อน วิธีการซื้อขายโดยการ “เปิดบัญชี” นี้ผู้ขายมีความเสี่ยงและเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะต้องส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อก่อนโดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการชำระเงินตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ การที่ผู้ซื้อและผู้ขายเลือกใช้วิธีการชำระเงินแบบ “เปิดบัญชี” ผู้ขายจะต้อง
ก. มีความเชื่อมั่น และ แน่ใจว่าผู้ซื้อจะสามารถชำระเงินได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน
ข. แน่ใจว่าประเทศของผู้ซื้อไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ หรือ กฎหมายห้ามการโอนเงินออกนอกประเทศ
ค. มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อ
วิธีที่ 3 ตั๋วเงินเพื่อการเรียกเก็บที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Bill for Collection) วิธีการชำระเงินแบบนี้มี 2 ประเภท คือ
ก. D/P (Document against Payment)
ข. D/A (Document against Acceptance)
ก. D/P
แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. D/P Sight วิธีนี้ผู้ขายจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อและนำเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการออกสินค้าไปยื่นต่อธนาคารของตนให้ส่งเอกสารไปเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อ ผ่านธนาคารในประเทศาของผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อจะไปขอรับเอกสารที่ใช้ในการออกสินค้าจากธนาคาร ผู้ซื้อจะต้องชำระค่าสินค่าให้ธนาคารก่อน ธนาคารจึงจะมอบเอกสารให้
2. D/P Term วิธีกากรเหมือนกับ D/P Sight แต่ D/P Term มีการกำหนดระยะเวลาการชำระเงิน เช่น 30, 60 หรือ 90 วัน นับจากวันที่ผู้ขายส่งสินค้าลงเรือ หรือ ขึ้นเครื่องบิน
ข. D/A
วิธีการชำระเงินแบบนี้คล้ายกับวิธีการชำระเงินแบบ D/P ต่างกันที่วิธี D/P ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินให้ธนาคาร ก่อน ธนาคารถึงจะมอบเอกสารที่ใช้ในการออกสินค้าให้ส่วนวิธี D/A มีกำหนดระยะเวลาการชำระเงินเช่น 30, 60 หรือ 90 วัน หลังจากรับรองตั๋วเงิน เมื่อผู้ซื้อไปขอรับเอกสารที่ใช้ในการออกสินค้าจากธนาคาร ผู้ซื้อเพียงแต่รับรองตั๋วเงิน ธนาคารจะมอบเอกสารให้
เนื่องจากทั้งวิธี D/P และ D/A ผู้ซื้อจะไปออกสินค้าโดยไม่มีเอกสารที่ใช้ในการออกสินค้าไม่ได้ จึงเป็นที่มั่นใจแก่ผู้ขายได้ว่าผู้ซื้อจะต้องชำระหรือรับรองตั๋วแลกเงินก่อน แต่อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีความเสี่ยงอยู่กล่าวคือ ถ้าผู้ซื้อปฏิเสธการรับสินค้า โดยไม่ยอมชำระเงินหรือรับรองตั๋วแลกเงินเนื่องจากผู้ซื้อมีปัญหาในด้านการเงิน หรือมีปัญหาในด้านการตลาดผู้ขายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำสินค้ากลับ หรือขายในราคาถูกให้กับผู้ซื้อรายใหม่ หรืออาจจะต้องขายทอดตลาดขาดทุนมากมาย วิธีการชำระเงินในลักษณะนี้ โดยปกติมักจะกระทำกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายที่ได้ทำการค้ามานาน จนความคุ้นเคย และไว้ใจกัน หรืออาจจะเป็นบริษัทสาขา หรือบริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ การสั่งซื้อจึงไม่จำเป็นต้องเปิด L/C
วิธีที่ 4 เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Letter of Credit)
การชำระเงินวิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากที่สุด เพราะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ซื้อ (IMPORTER) และผู้ขาย (EXPORTER) โดยมีชื่อผูกมัดตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน L/C ซึ่งแล้วแต่จะตกลงกัน โดยมีธนาคารเป็นสื่อกลาง
การที่ผู้ซื้อ (IMPORTER) ได้มานิยมใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ (COMMERCIAL BANK) เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยการเปิด L/C ก็เพราะว่าธนาคารเปรียบเสมือนเป็นตัวกลางของทั้งผู้ซื้อ (IMPORTER) และผู้ขาย (EXPORTER) ในประเทศของตน ผู้ซื้อก็มั่นใจว่าถ้าสั่งซื้อสินค้าโดยเปิด L/C ไปให้ผู้ขายแล้ว ผู้ขายก็จะจัดส่งสินค้าให้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ใน L/C ทุกประการ ถ้าหากผู้ขายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน L/C ธนาคารก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในการติดต่อประนีประนอม หรือต้องร้องเรียกของเสียหายจากผู้ขายให้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ขายก็มั่นใจว่า ถ้าขนส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อตามเงื่อนไขที่ระบุใน L/C ที่ผู้ซื้อเปิดมานั้นครบทุกประการ ผู้ขายจะไปรับเงินได้จากธนาคารในประเทศของตน
เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Letter of Credit) คืออะไร
เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเอกสารประกอบ (Documentary Letter of Credit) คือคำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรของธนาคาร (Issuing Bank) ที่ให้กับผู้ขาย (Beneficiary) โดยการขอร้องและตามคำสั่งของผู้ซื้อ (Applicant) ในอันที่จะจ่ายเงินทันที หรือตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นจำนวนตามที่ระบุไว้โดยการแลกเปลี่ยนกับเอกสารตามที่ระบุไว้ เอกสารตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟ เครดิต มักจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการค้า การควบคุม การประกันภัย การขนส่ง อาทิเช่น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าใบกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารการขนส่งที่สอดคล้องกับวิธีขนส่งสินค้า
ประเภทของเลเตอร์ออฟเครดิต เลตเตอร์ออฟเครดิต แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1. ประเภทเพิกถอนได้ (Revocable Letter of Credit)
2. ประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable Letter of Credit)
บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ประกอบด้วย
ก. ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (Applicant) หรือผู้ซื้อ
ข. ธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (Issuing / Opening Bank)
ค. ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) หรือผู้ขาย
ง. ธนาคารผู้แจ้งเลตเตอร์ออฟเครดิต (Advising Bank)
เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนได้ (Revocable)
ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือธนาคารผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมีสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ โดยไม่ต้องขอยินยอมจากผู้รับผลประโยชน์ เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable) จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้รับผลประโยชน์ ชนิดของเลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้
เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable) แบ่งออกได้หลายชนิดเช่น
ก. Stanby L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อการค้ำประกัน) เป็นเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ไม่มีสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องเปิดมาเพื่อเป็นการรับรองต่อผู้รับผลประโยชน์ว่า
- จะชดใช้เงินที่ผู้ขอยืมไปจากผู้รับผลประโยชน์คืนให้แก่ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่สามารถใช้คืนได้
- จะจ่ายให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้รับผลประโยชน์
ข. Transferable L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิตที่โอนสิทธิได้) คือเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ผู้รับผลประโยชน์สามารถขอให้ธนาคาร โอนสิทธิ์ในเลตเตอร์ออฟเครดิต ให้กับผู้รับผลประโยชน์คนที่ 2 ได้
ค. Revolving L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิตหมุนเวียน)คือ เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเงื่อนไขไว้ว่าเมื่อได้มีการใช้ผลประโยชน์จากเลต เตอร์ออฟเครดิตไปเท่าไรแล้วจำนวนที่ใช้ไปแล้วนั้นจะมีผลใช้ได้อีกจนกว่า เลตเตอร์ออฟเครดิต จะหมดอายุหรือตามจำนวนครั้งที่ระบุไว้ในลตเตอร์ออฟเครดิต
ง. Back-to-Back L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิตหมุนเลนเตอร์ออฟเครดิต) คือการนำเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ผู้ซื้อในต่างประเทศเปิดมาเพื่อสั่งซื้อสินค้าไปสนับสนุนการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคาร เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ 3 ส่งไปให้
จ. Red Clause L/C (เลตเตอร์ออฟเครดิตให้เบิกเงินล่วงหน้าได้) คือ เลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเงื่อนไขระบุว่า ให้ผู้รับผลประโยชน์มีสิทธิเบิกล่วงหน้าจากเลตเตอร์ออฟเครดิตได้บางส่วนหรือทั้งหมด เงื่อนไขดังกล่าวจะพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง จึงเรียกว่า Red Clause L/C ในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ วิธีการชำระเงินระหว่าประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องระมัดระวังอย่างมากโดยเฉพาะรายละเอียดในเอกสาร เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการค้า