คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2547
เงินช่วยเหลือซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีหรือไม่
ป.พ.พ. ม. 368
ป.รัษฎากร ม. 3 จตุทศ, 40 (1), 50, 52, 63
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุถึงเงินช่วยเหลือที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ไว้ในข้อ 1 ว่า "โจทก์ตกลงรับเงินช่วยเหลือที่จำเลยเสนอจ่ายเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางที่ศาลแรงงานกลางภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2545" เท่านั้น มิได้มีข้อความว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสุทธิที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์หรือจำเลยจะชำระภาษีแทนโจทก์แต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัยหรืออาจตีความได้สองนัย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 368 มาตีความให้เป็นอย่างอื่นได้ จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) จำเลยผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม ป. รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ นำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอซึ่งรวมถึงที่ว่าการเขตภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินตามมาตรา 52 การที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 1,890,000 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 1,110,000 บาท และนำส่งสรรพากรเขตปทุมวัน จึงเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้วหากโจทก์เห็นว่าตนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือถูกหักภาษีไว้เกินกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
รวบรวมโดย :
ศศินันท์ จงธนพิพัฒน์ – ทนายความ โทร. 089-8811786
LAWS AND REGULATIONS
เงินช่วยเหลือซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีหรือไม่
- Details
- Hits: 6365