สวัสดี ท่านผู้อ่านที่เคารพ
เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553 ผมได้เข้าประชุม โดยสมาคมชิปปิ้งฯ ได้จัดงานคลินิกพิธีการครั้งที่ 1/2553 เรื่อง "ปัญหาการปฏิบัติงาน และระบบผ่านเข้าออกแบบใหม่ (e-Gate) ที่ท่าเรือกรุงเทพ" โดย นายยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายสม จันสุทธิรางกูร ประธานกรรมการตรวจการจ้าง และดร.สมนึก คีรีโต Project Director เป็นวิทยากรในการบรรยาย ภายในงานมีผู้มาร่วมรับฟังมากกว่า 200 บริษัท และมีการซักถามปัญหาต่างๆ กับเจ้าหน้าที่พอจะเล่าสู่กันฟังว่า
การท่าเรือได้ทำโครงการท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Port ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และการบริการโดยพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ในระยะแรกของการพัฒนาจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเตรียมความพร้อมด้านฮาร์ดแวร์ และระบบขนส่งเชื่อมโยง (Networking) เพื่อพัฒนาไปสู่ e-Logistics ในภาคการขนส่งโลจิสติกส์ระดับประเทศ จากนั้นจะเป็นการพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านต่างๆ ทั้งในระบบการสินค้า และตู้สินค้า ระบบการแจ้งข้อมูลเรืออัตโนมัติ และระบบสนับสนุน เช่น ระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ระบบสำนักงานอัตโนมัติ (OA) และระบบศูนย์ปฏิบัติการของกทท.(e-Doc) ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการเรือสินค้า และตู้สินค้าให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และ e-Gate ก็เป็นส่วนหนึ่งของ e-Port
สำหรับโครงการติดตั้งระบบจัดเก็บค่ายานพาหนะผ่านท่าที่ ทลฉ. ดังกล่าว เป็นการพัฒนาการให้บริการในระบบท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) ของ กทท. ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อให้มีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และการค้าของภูมิภาคอินโดจีน เพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนโลจิสติกส์ รวมทั้งพัฒนาการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษา ความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศหรือ ISPS Code ในการขนย้ายตู้สินค้าและรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออก ทลฉ. โดยนำระบบ OCR (Optical Character Recognition) และ RFID (Radio Frequency Identification) มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลตู้สินค้า บุคคล ยานพาหนะ ค่าธรรมเนียม และจุดหมายปลายทาง เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทลฉ.ได้ติดตั้งระบบและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ณ ประตูตรวจสอบ 1-3 จำนวน 3 สถานี โดยยานพาหนะแต่ละประเภทจะใช้เวลาในการผ่านประตูไม่เกิน 30 วินาทีต่อคัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการประกอบการของ ทลฉ. เพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ ตลอดจนลดขั้นตอนการปฏิบัติงานในการผ่านเข้า-ออก ประตูตรวจสอบของยานพาหนะ และบุคคลที่ผ่านเขตรั้วศุลกากร ซึ่งจะส่งผลทำให้การจราจรในอาณาบริเวณท่าเรือมีความคล่องตัว และมีการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
โดยในการยกระดับการให้บริการก็พอจะสรุปได้ว่า ระบบ Easy Pass เป็นระบบที่ดี การท่าเรือจึงนำมาประยุกต์ใช้ และเพิ่มเติมด้วยระบบบัตรของประวัติของคนขับรถ และตัวรถบรรทุกด้วย ทำให้เกิดระบบ e-Gate ได้เกิดขึ้น และระบบ e-Gate จะเป็นส่วนของ e-Port ในขั้นตอนแรก เพื่อพัฒนาให้ ระบบ e-Port ได้ครบวงจร โดยการเริ่มด้วยการลงทะเบียนผู้นำเข้า ผู้ส่งออก คนขับรถ รถบรรทุกสินค้า เลขตู้คอนเทนเนอร์ ใบขนสินค้าต่างๆ และเงินที่ต้องสำรองจ่ายก่อน โดยการผ่านระบบข้างต้น ในการประชุมกับ ดร.สมนึก คีรีโต และทีมงาน ทางผู้ประกอบการได้พบข้อบกพร่องที่ ระบบ e-Gate ควรแก้ไขดังนี้
1. ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกใช้บริษัทขนส่งหลายเจ้าแต่ละเจ้ามีรถหลายคน ถ้าจะซื้อบัตรเงินสดต้องซื้ออย่างไร และพนักงานขับรถจะมีจุดสังเกตอย่างไรว่า บัตรไหนของผู้นำเข้า-ส่งออก เจ้าไหน เพราะไม่ใช่วิ่งงานโรงงานเดียว
2. กรณีสำรองชำระบัตรเงินสดก่อน ในเดือนถัดไปก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือน ต้องนำ VAT 7% ไปยื่นกรมสรรพากร ถ้าบัตรนั้นใช้ไม่หมดสามารถนำใบเสร็จไปคืนพร้อมออกให้ตามจำนวนที่ใช้จริง พร้อมคืนเงินได้หรือไม่
3. บัตรเงินสดที่ซื้อมาเมื่อผ่านท่าเรือแล้วมีเศษเหลือสามารถคืนหรือรวมกับใบ ใหม่ได้หรือไม่
4. ในกรณีบริษัทตัวแทนออกของ หรือชิปปิ้งสำรองแทน จะเปลี่ยนเป็นผู้นำเข้า หรือส่งออกจริงในภายหลังได้หรือเปล่า
5. การซื้อบัตรเงินสดถ้าซื้ออย่างต่ำ 1,000 บาทต่อคัน ถ้าต้องการให้ออกใบเสร็จชื่อที่อยู่ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกหลายใบในการชำระเงินครั้งเดียวได้หรือไม่ เพราะรถคันดังกล่าววิ่งหลายโรงงาน
6. ใบเสร็จที่ซื้อบัตรเงินสดออกเป็นชื่อที่อยู่บริษัทขนส่ง VAT 7% แต่บริษัทขนส่งเป็น VAT 0% บริษัทขนส่งจะออกต่อให้ผู้ประกอบการได้อย่างไร
7. บริษัทรถขนส่งมีรถอยู่ 10 คัน ลูกค้า 30 ราย ต้องการใบเสร็จ ดังนั้นต้องซื้อคนละ 30 ใบ รวม 300 ใบๆ ละ 1,000 เป็นเงิน 30,000บาท เพราะไม่สามารถจัดได้ว่า คนไหนวิ่งงานใด วันเวลาใด ทำให้ต้องแบกภาระสำรองเงินสูงไปหรือเปล่า
ผมเห็นด้วยว่า ระบบ E-Port ระบบที่ดีในขั้นแรกจะเริ่มที่สินค้าส่งออกที่เป็นตู้เต็ม สร้างความปลอดภัย ถ้าทำระบบดีๆ แล้ว จะกันเรื่องปัญหาการทุจริตต่างๆ ในการทำงานโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน และควรจะทำควบคู่กับระบบเก่า เพราะชะลอปัญหาของคนที่ไม่มีความพร้อม และไม่เข้าใจในช่วงแรก ก่อนที่นำมาใช้งานจริง ควรจะหาเวทีการเสวนา และประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาให้ดีไม่มีอุปสรรคในภายหลังเหมือนอย่าง เหตุการณ์ ตอนที่กรมศุลกากรเริ่มใช้ระบบ EDI มีการต่อต้านประท้วงจากชิปปิ้งและตัวแทนออกของ อย่างรุนแรง ผมขอออกตัวว่า ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ และฝ่ายบริหารการท่าเรือ แต่ท่าเรือกรุงเทพ เป็นสถาบันที่มีคนดีมาก และคนเก่งมาย แต่ติดที่กฎระเบียบของ รัฐบาล ควรจะแก้กฎระเบียบ และโครงสร้างให้ดีขึ้น และทันสมัย ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนน้อยที่สร้างปัญหาเหมือนทุกสถาบัน ไม่ว่าบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ก็มีทั้งคนดี และคนไม่ดี แต่ทุกอย่างต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันกับโลกปัจจุบัน
สรุป ระบบ E-Port ไม่ Easy อย่างระบบ Easy Pass หลายฝ่ายต้องช่วยกันให้เกิด เพื่อการลด และแก้ปัญหาข้างต้น และปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ ขึ้นอยู่กับท่านผู้บริการการท่าเรือและรัฐบาล เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกได้ส่งสินค้าให้ตลาดโลกมาขึ้น
ขอบคุณครับ
หยก แสงตะวัน