บทความ ตอนที่ 3 / สำหรับ เล่ม ปักษ์ หลัง – กรกฎาคม 2554
เรื่อง : ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่ได้รับอนุญาต (Authorized Economic Operators) AEOs ตอนจบ
------------------
จากความเดิมตอนที่แล้ว ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า เราติดตามเรื่องเครื่องหมายและหลักการของ AEOs ซึ่งขออ้างถึงข้อมูลเพิ่มเติม ตามที่ คุณภวรัญชน์ ตันมีศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านราคาศุลกากร มาบรรยายเรื่อง AEOs ที่สภาหอการค้าฯ ท่านได้บอกว่า หลักการสำคัญ คือ การร่วมมือระหว่างศุลกากรกับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือตลอดขั้นตอนการขนส่งสินค้าจากโรงงานของผู้ส่งออกจนถึงมือผู้นำเข้า โดยถือหลักการของกำหนดมาตรการ AEO เป็นแนวทางให้สมาชิกถือปฎิบัติขององค์การศุลกากรโลก (WCO) อาจจะกล่าวได้ว่า WCO กำหนดหลักสำคัญ แล้วกรมศุลกากรของแต่ละประเทศมาสร้างหลักการประเมิน และวิธีตามแบบของตัวเอง
ไม่ใช่ว่า วิธีการประเมินผล หรือการตรวจของประเทศไทยจะต้องเหมือนของประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า AEO หมายถึง องค์กร/ บริษัทที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งไดรับการรับรองจากกรมศุลกากรว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของ WCO หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานนั่นเอง
กระบวนการรับรองสถานภาพ ของผู้ส่งออก ให้เป็น AEOs หรือเรียกได้ว่า ท่านผู้ส่งออกต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
2. เป็นผู้ประกอบการที่มีฐานะการเงินมั่นคงโดยพิจารณาจาก
· งบการเงินมีกำไรย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 2 ปีบัญชีติตต่อกัน
· ไม่เคยได้รับการปฎิเสธการรับรองฐานะการเงินจากสมาคม หรือองค์กรเอกชน เช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
3. เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งของออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
4. ไม่มีประวัติการกระทำความผิดตาม กฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
อย่างร้ายแรง
5. ไม่เป็นผู้ประกอบการที่ถูกเพิกถอนสถานสภาพ AEO ในช่วง 3 ปี ย้อนหลัง
6. ต้องมีการทำแผนควบคุม และมีระบบจัดการความปลอดภัยภายใต้ 8 ข้อที่ผมแจ้ง
ไว้ ในตอนที่ 1
ท่านผู้ส่งออก ต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
1. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
2. งบการเงินตามข้อกำหนของกระทรวงพาณิชย์ย้อนหลัง 2 ปี และหนังสือรับรอง
ฐานะการทางเงินของสมาคม/ องค์กร
3. แผนผังแสดงที่ตั้งของอาคารสถานที่ และบริเวณโดยรอบ
4. เอกสารอื่นๆ เช่น สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
ประโยชน์ และสิทธิพิเศษที่ทางกรมศุลกากรจะให้ท่านผู้ส่งออกที่เข้าร่วม AEO
1. ผู้ส่งออกจะได้รับการรับรองว่า เป็นผู้ประการที่มีระบบการควบคุมความปลอดภัย ส่งเสริมภาพลัษณ์ของผู้ส่งออกเอง อันนี้จะดูเท่ห์ เหมือนใส่มาตารฐานใหม่ โฆษณาบริษัทไปในตัว
2. ได้รับการยกเว้นการตรวจพิธีการ (green line)
3. ได้รับการยกเว้นการตรวจทางสินค้า เว้นแต่การสุ่มตรวจ ถ้าถูกสุ่มตรวจก็ได้รับลำดับแรก ไม่ต้องรอคิว
4. ได้รับการยอมรับจากศุลกากรต่างประเทศที่จะมีการทำความตกลงรับร่วมกัน (MRA) กับกรมศุลกากรในอนาคตซึ่งเป็นผลดีต่อการตรวจปล่อยสินค้าเมื่อเดินทางไปถึงต่างประเทศ
5. สิทธิพิเศษอื่นๆ อันพึงมีในอนาคตตามที่อธิบดีประการกำหนด
6. ข้อนี้ผมขอเสริม ผู้ส่งออกขายสินค้าได้ เพราะจะมี L/C โดยเฉพาะในยุโรปจะระบุมาในเงี่อนไขว่าต้องมีใบรับรอง AEO มิฉะนั้น จะไม่ซื้อของท่านมาพูดถึงเวลาที่เจ้าหน้ากรมศุลกากรมาตรวจสถานประกอบการ (Onsite Inspection) เขามีให้คะแนนเต็ม 100%
1. เรื่องเอกสารชี้แจงการรักษาความปลอดภัย (security Profile ) 25%
2. เรื่องระบบจัดการรักษาความปลอดภัย 25%
3. เรื่องการประเมินความเสี่ยง 25%
4. เรื่องมาตรการด้านรักษาความปลอดภัย 25%
ผมดูเอกสารบางส่วนพอจะดูว่า ถ้าท่านผู้ส่งออกเคยทำมาตรฐาน ISO 9001: 2008 แล้วก็คงไม่ยาก เติมหลักการเกี่ยวกับความปลอดภัย ให้ละเอียดก็น่าจะผ่าน
ปัญหาของ AEOs
ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังขาดประสบการณ์ และความรู้ความเข้าใจในการนำ AEOs มาปฏิบัติ อาจจะกล่าวได้ว่า AEOs เป็นเรื่องใหม่ จำเป็นต้องได้รับการอบรมให้ความรู้
สำหรับในส่วนผู้ส่งออก หนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนที่ผู้ส่งออกต้องรับภาระระหว่างอยู่ในกระบวนการรับรองสถานภาพ AEOs เช่นค่าใช้จ่ายในการซื้อกล้อง CCTV ค่าใช้จ่ายการติด GRPS ติดตามรถบรรทุกที่ขนสินค้าเป็นต้น และมีเสียร้องจากผู้ส่งออกบางท่านว่า สิทธิประโยชน์น้อย และไม่จูงใจผู้ส่งออกให้เข้าร่วมโครงการ
เอาเป็นว่า ขณะนี้ทางสภาหอการค้าฯ อยู่ระหว่างนำเสนอกรมศุลกากรเพื่อออกประกาศ เรื่องผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่ได้รับอนุญาต สำหรับผู้ส่งออกให้ง่ายขึ้น และจูงใจมากกว่านี้ ผมได้เสนอในที่ประชุมว่า ถ้าทางกรมศุลกากรต้องรีบทำแบบยกชุด โดยนำระบบดังกล่าว ให้กับนิคมอุตสหกรรมที่ส่งออก หรือเขตปลอดอากรแล้วทำกับบริษัทที่อยู่ในเขต หรือนิคมดังกล่าวเข้าร่วมจะได้ทำได้เร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย และผมขอฝากกับทางกรมศุลกากรให้คืนภาษีในส่วนของเงินคืนตามมาตรา 19ทวิ ให้เร็วขึ้นสำหรับผู้ส่งออกที่ร่วมโครงการนี้ อันนี้ ผู้ส่งออกต้องการแน่ๆ
ท่านผู้ส่งออกท่านใดสนใจ ติดต่อ คุณภวรัญชน์ ตันมีศิลป์ โทร 02-6677390 และคุณกาญจนา สุวานิโช โทร 02-667 7000 ต่อ 5357
จบแล้วนะครับสำหรับเรื่องนี้ ไว้คุยเรื่องโลจิสติกส์ในฉบับหน้า
วิชัย จงธนพิพัฒน์ / หยกแสงตะวัน