พิมพ์
ฮิต: 4901
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2550
บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ
ตามความหมายของพรบ.ประกันสังคม


  พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 56 วรรคหนึ่ง
  พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)
  พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2)    

 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมดังกล่าว คำว่า "บุตร" จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรอันแท้จริงของ ป. โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีที่ ป. ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2)
ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ประสงค์จะให้ผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน เพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตน ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพของ ป. ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)
 
  รวบรวมโดย :    ทนายศศินันท์ จงธนพิพัฒน์  (089-8811786)