พิมพ์
ฮิต: 15153

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2546

 

ลูกจ้างกระทำโดยรู้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง

แม้นายจ้างจะไม่ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวของลูกจ้าง นายจ้าง

สามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.. 2541 มาตรา 119 ได้หรือไม่

 

... มาตรา 583

...คุ้มครองแรงงาน พ..2541 มาตรา 119

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.. 2541 มาตรา 119(2) มีความมุ่งหมายที่จะให้สิทธิแก่นายจ้างสามารถลงโทษลูกจ้างที่ตั้งใจหรือมีเจตนากระทำการโดยรู้ว่าการกระทำของตน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างเท่านั้น มิได้มุ่งเน้นที่ความเสียหายว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งแตกต่างจากกรณีกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ตั้งใจตามมาตรา 119(3) ที่มีเงื่อนไขว่า ความเสียหายที่นายจ้างได้รับจะต้องถึงขั้นเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ฉะนั้นไม่ว่าการกระทำของโจทก์จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้วหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัย

 

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีหน้าที่บริหารงานบุคคลภายในบริษัทจำเลยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและคำสั่งของ ช. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา โจทก์ไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการตามคำสั่งศาลซึ่งมีหมายแจ้งคำสั่งห้ามชั่วคราวไปถึงบริษัทจำเลย มิให้ใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ในการผลิตกระดาษในคดีที่บริษัท อ. ฟ้องขับไล่จำเลย ซึ่งเป็นผู้เช่าโรงงาน แต่โจทก์ได้แสดงตนเป็นพนักงานของบริษัท อ. ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายปฏิปักษ์กับจำเลย และขอจัดประชุมเพื่อให้พนักงานของจำเลยที่มีอยู่ประมาณ 200 คน สมัครใจว่าจะเป็นลูกจ้างใคร กับทั้งจะนำคนงานบริษัท อ. เข้ามาในโรงงานซึ่งอาจก่อให้เกิดการแตกแยกในหมู่พนักงานของจำเลย และเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยและมีเจตนาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือฝ่ายตรงข้ามกับจำเลย มิใช่เป็นการกระทำเพื่อให้คำสั่งของศาลเป็นไปโดยถูกต้องและบรรลุผลโดยสุจริตใจ ซึ่งนอกจากเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว ยังเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอีกด้วย อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

 

 

รวบรวมโดย : ทนายศศินันท์ จงธนพิพัฒน์ (โทร. 089-8811786)