พิมพ์
ฮิต: 4022

สำนักเลขาธิการอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Conventional : IPPC) ภายใต้ FAO ได้ออกมาตรฐานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 15 (International Standards for Phytosanitary Measures : ISPMs No. 15) ว่าด้วยมาตราการ สุขอนามัยพืช เรื่อง แนวทางการควบคุมวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้สำหรับสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้ประเทศสมาชิก นำไปใช้ในการกำหนดมาตรการอารักขาพืชของประเทศตนเอง สำหรับตรวจสอบวัสดุบรรจุภัฑ์ไม้ (Wood Packaging Materials : WPM) ที่ใช้ในการบรรจุสินค้าหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งซึ่งวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ดังกล่าวยังรวมถึงวัสดุไม้กันกระแทกแผ่น รองรับที่อยู่ภายใน และไม้รองรับสินค้า(pallet)เพราะอาจเป็นพาหะศัตรูพืชระบาดที่ทำความเสียหายให้กับพืชปลูก และป่าไม้ในประเทศคู่ค้าได้ ตามวิธีที่กำหนดใน ISPMs No.15 คือ การอบไม้ด้วยความร้อน (Heat Treatment) และการรมด้วยเมทธิลโบรไมล (Methyl Bromide Fumigation) โดยเริ่มบังคับใช้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งบางประเทศได้เริ่มนำไปใช้ปฏิบัติแล้ว แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการเข้มงวดสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ ที่ยังไม่มีเครื่องหมาย IPPC และโดยที่ประเทศไทยมีสถานภาพเป็นสมาชิก IPPC จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนี้เช่นกัน
                      สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำมาตรฐานควบคุมดูแลสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 มีนาคม 2546 จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งในการจัดทำมาตรฐานและระบบการรับรอง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก ดังนั้น มกอช. จึงมอบหมายให้สำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ (สรม.) จัดทำมาตรฐานข้อกำหนด สำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก
                      สำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ (สรม.) ในฐานะที่เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB) ได้ดำเนินการจัดทำระเบียบ มกอช. ว่าด้วยการยอมรับความสามารถของหน่วยรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร สาขาการรับรองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้และหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการรับรองระบบงาน (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 57ง วันที่ 20 พ.ค. 47) ในการให้การรับรองหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) โดยขณะนี้มีหน่วยรับรอง (CB) สาขาการรับรองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพียง 1 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร ดังนั้นเพื่อทางเลือกของผู้ประกอบการได้รวดเร็วขึ้น จึงควรสนันสนุนให้ CB ภาคเอกชนมีส่วนช่วยภาครัฐดำเนินการ เพื่อให้ทางเลือกแก่ผู้ประกอบการและผั้เกี่ยวข้องในการขอรับการบริการสำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ (สรม.) จึงเชิญชวนหน่วยงานภาคเอกชนที่ต้องการเป็นหน่วยรับรองมายื่นขอการรับรองตามความสมัครใจ เนื่องจากในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างรอประกาศ พรบ.ของ มกอช.

กลุ่มเป้าหมายและการดำเนินการ
                      1. CB ภาคเอกชนที่จะยื่นขอรับรองความสามารถของหน่วยรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร สาขาวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
                        ขั้นตอนการดำเนินการ
                             1.1 ติดต่อ กลุ่มพัฒนาระบบ สรม. เพื่อขอหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการยอมรับความสามารถของหน่วยรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร สาขาวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ และใบสมัครเพื่อขอใบรับรองฯ
                             1.2 คุณสมบัติหลัก คือ ต้องเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กรสากลว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum : IAF) เรื่องข้อกำหนดทั่วไปสำหรับหน่วยรับรองระบบคุณภาพ (ISO/IEC Guide 65 General Requirement Bodies Operation Quality System Certification) และมีหลักฐานการรับรองเป็นรูปแบบ (full audit) ในสาขาที่ขอรับการรับรอง หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ราย หรือตามเงื่อนไขที่ มกอช. กำหนด
                             1.3 เตรียมเอกสารและหลักฐานประกอบคำขอ โดย CB ต้องมีระบบเอกสารคู่มือคุณภาพ (Quality Manual) หรือเทียบเท่า และเอกสารขั้นตอนวิธีปฏิบัติงาน (Procedure)
                             1.4 ยื่นคำขอที่ กลุ่มพัฒนาระบบ สำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ (สรม.) พร้อมแนบเอกสาร หลักฐานประกอบการขอ และตรวจเอกสาร
                             1.5 สรม. ประเมินเอกสารระบบงานที่ยื่นขอ
                             1.6 ทำการตรวจประเมิน โดยมี 2 ขั้นตอน คือ ประเมินการดำเนินงานระบบงาน ณ สำนักงานของ CB และการตรวจประเมิน CB ณ สถานที่ประกอบการจริง
                             1.7 การพิจารณาผลการประเมินเพื่อออกใบรับรอง โดยคณะทบทวน
                             1.8 การออกใบรับรอง โดยใบรับรองมีอายุ 4 ปี และต้องการตรวจติดตามปีละ 1 ครั้งเมื่อครบ 4 ปี ต้องทำการตรวจประเมินใหม่
                      2. ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป
                             2.1 ถ้าต้องการทราบข้อมูลและรายละเอียดหรือสนใจจะเป็น CB สาขาวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
                                    ขั้นตอนการดำเนินการ
                                    1. ติดต่อ กลุ่มพัฒนาระบบ สรม. เพื่อขอข้อมูลและรายละเอียดเงื่อนไขการเป็น CB และถ้าต้องการทราบความก้าวหน้าของการรับรองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ให้ติดต่อกลุ่มพืชและผลิตภัณฑ์ของ สรม.
                                    2. หากทราบข้อมูลและรายละเอียดเงื่อนไขการเป็น CB แล้วสนใจที่จะสมัครขอรับการรับรองให้ดำเนินการตาม ข้อ 1.1-1.4 ในข้อ 1
                             2.2 ถ้าต้องการการรับรองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
                                    ขั้นตอนการดำเนินการ
                                    1. ในขณะนี้ ถ้าผู้ประกอบการที่ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ลังไม้อยู่แล้ว ต้องการรับการรับรองวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้จาก CB ภาครัฐ สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
                                    2. ถ้าต้องการทราบข้อมูลข่าวสาร ว่าประเทศใดมีมาตรการเข้มงวดสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ยังไม่มีเครื่องหมาย IPPC สามารถติดต่อขอรับข้อมูลได้ที่ กลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยพืช สำนักมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ มกอช.