พิมพ์
ฮิต: 7697
 

ด้วยทิศทางของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้เว็บไซต์ในรูปแบบ Responsive Design ที่ออกแบบเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถแสดงผลพอดีกับหน้าจอของทุกอุปกรณ์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่นอกเหนือจากระบบเว็บไซต์ที่ดีแล้ว การใส่ข้อมูลในเว็บไซต์ก็มีจุดที่เว็บมาสเตอร์ควรระวัง โดยวันนี้ ReadyPlanet มีตัวอย่างมาแนะนำ เพื่อป้องกันและปรับใช้กับข้อมูลเว็บไซต์เมื่อแสดงผลบนมือถือให้สมบูรณ์ขึ้นได้ ดังนี้ค่ะ

4
                                            เรื่องบนเว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการมักทำผิด

1. เลือกใช้ข้อความบนภาพแบนเนอร์ที่มีขนาดเล็กเกินไป

แม้ว่าข้อความบนภาพแบนเนอร์ของคุณจะกินใจ หรือตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่หากข้อความเหล่านั้นมีมากเกินไป แล้วผู้ชมดูผ่านหน้าจอขนาดเพียง 4-5 นิ้ว ก็ทำให้ตัวหนังสือเล็กลงจนอ่านยาก ทางที่ดีคุณควรดึงดูดกลุ่มเป้าหมายด้วยภาพที่สวยงาม และเลือกข้อความพาดหัวแบนเนอร์ที่กินใจเพียงประโยคเดียว จากนั้นใส่เบอร์โทรเพื่อการติดต่อกลับ เท่านี้คุณก็สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายบนมือถือได้

  
2. กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถคลิกที่ภาพเพื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ได้

หากคุณทำให้กลุ่มเป้าหมายหยุด และสนใจภาพแบนเนอร์ของคุณในข้อแรกได้แล้ว สิ่งต่อไปที่คุณต้องทำก็คือ การสร้าง Landing Page เพื่อบอกข้อมูลเพิ่มเติมแก่กลุ่มเป้าหมาย และขั้นตอนที่ง่ายที่สุดแก่การเข้าถึงก็คือ การที่พวกเขาคลิกภาพ แล้วพวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สนใจในทันที โดยไม่ต้องกรอก URL หรือเสิร์ชเพิ่มเติมให้เป็นการเสียเวลา ซึ่งอาจไปกระทบต่อประสบการณ์การใช้งานของกลุ่มเป้าหมายก็เป็นได้

  
3. ไม่มีลิงก์เบอร์โทรศัพท์เพื่อกดโทรออกได้ทันที

ยิ่งผู้บริโภคใช้เวลาในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อน้อยเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะมาเป็นลูกค้าของคุณก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อลูกค้าพบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของคุณบนมือถือและเกิดความสนใจ พวกเขาย่อมมองหาช่องทางที่จะติดต่อเข้ามา หากคุณมีการใส่ลิงก์เบอร์โทรศัพท์เอาไว้บนเว็บไซต์ในจุดที่มองเห็นง่าย และเตรียมพนักงานรับโทรศัพท์เพื่อปิดการขาย คุณก็สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้าได้ง่ายขึ้นแล้วค่ะ

  
4. ไม่มี Call To Action บนหน้าเว็บไซต์

ถึงแม้ว่าคุณจะมีการแนบลิงก์เบอร์โทรศัพท์ หรือลิงก์เพื่อไปยัง Landing Page บนภาพแบนเนอร์แล้ว แต่คุณอาจไม่ได้ชักจูงกลุ่มเป้าหมายให้คลิกด้วย Call to Action ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายทราบว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป หากสนใจในสินค้าหรือบริการ เช่น จองวันนี้!, ดูเพิ่มเติม, ลงทะเบียนที่นี่ เป็นต้น ซึ่งข้อความเหล่านี้คือตัวช่วยที่ดีที่จะนำให้กลุ่มเป้าหมายทำตามความต้องการของแบรนด์ได้มากขึ้นค่ะ

  
วิธีการง่าย ๆ ที่คุณจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป คือ ก่อนที่คุณจะทำการโปรโมทเว็บไซต์ไม่ว่าจะในช่องทางใดก็ตาม คุณเพียงแค่ทดลองเปิดเว็บไซต์หน้านั้น ๆ ดูผ่านโทรศัพท์มือถือของคุณก่อน หากมีข้อความ หรือลิงก์สำคัญที่กระตุ้นให้เกิดยอดขายใดที่มองเห็นยาก คลิกลำบาก คุณก็สามารถปรับแก้ไขก่อนนำออกไปทำโฆษณา หรือโปรโมทลงบนช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ที่คุณมีค่ะ