Print
Hits: 5324

เรื่อง  สิทธิของผู้ประกันตนเกี่ยว กับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์

สำนักงานประกันสังคม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2551

 

พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ม. 62, 63

ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์

ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2538  ข้อ 4.2

 

หลังจากโจทก์ประสบอุบัติเหตุโจทก์ได้รับบาดเจ็บและหมดสติ ไปโดยโจทก์มีบาดแผลที่ขาหลายแห่งและกระดูกขาหัก มีพลเมืองดีนำโจทก์ส่งโรงพยาบาล ส. โจทก์รู้สึกตัวและโทรศัพท์ไปหาบิดา เมื่อบิดาโจทก์มาถึงจึงขอให้โรงพยาบาล ส. ฉีดยาระงับอาการปวดและเอกซเรย์กระดูกขาให้ หลังจากนั้นจึงทำเรื่องขอย้ายโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยทำบันทึกไว้ว่าไม่ประสงค์จะให้โรงพยาบาล ส. รักษาโจทก์ต่อไป และโจทก์ได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกดามกระดูกขาและรักษาบาดแผลเสียค่าบริการทางการ แพทย์ประเภทผู้ป่วยในเป็นเงิน 62,676.10 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่จะย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาล ส. ไปรักษาต่อนั้น โรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นไปบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำการผ่าตัดรักษากระดูกขาที่หัก แม้จะเป็นกรณีที่จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ก็ได้ความว่าวิทยาลัย พ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิและโรงพยาบาล ว. ต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยกัน ใช้ระยะเวลาเดินทางใกล้เคียงกัน การนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิหรือโรงพยาบาล ว. จึงไม่น่าจะใช้เวลาแตกต่างกันมากนัก ทั้งโรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นให้แก่โจทก์บ้างแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าหากนำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว การรักษาจะไม่ทันท่วงทีหรืออาจเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นแก่โจทก์ การที่บิดาโจทก์ส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. จึงเป็นเพราะบิดาโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ว. นั่นเอง การที่นำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. ซึ่งมิใช่โรงพยาบาลตามสิทธิจึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องรับการบริการทาง การแพทย์จากโรงพยาบาล ว. แต่เป็นความประสงค์ที่จะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศ ของสำนักงานประกันสังคม ฯ จำเลย ข้อ 4.2 ดังกล่าว

 

รวบรวมโดย :  ทนายศศินันท์ จงธนพิพัฒน์  (089-8811786)